นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของปี 62 มียอดขายที่ระดับ 5.3 พันล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่ทำยอดขายทะลุ 4.5 พันล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ที่ 4.65 พันล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อนที่ทำรายได้ตามเป้าหมายที่ 4 พันล้านบาท ขณะที่ตั้งงบซื้อที่ดินไว้ที่ 1 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการออกหุ้นกู้
โดยในปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภททาวน์โฮม บ้านแนวคิดใหม่ และบ้านเดี่ยว ซึ่งวางแผนจะเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 8-10 โครงการ มูลค่ารวม 4-4.5 พันล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เมืองท่องเที่ยว และแหล่งงานสำคัญ พร้อมวางกลยุทธ์การตลาด ภายใต้แนวคิด The Urban Destination For Living สร้างฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี และยังเดินหน้ารักษาฐานลูกค้าเก่าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
นายชูรัชฏ์ กล่าวว่า การเปิดโครงการใหม่ในปี 62 ยังคงเน้นการเปิดโครงการแนวราบเป็นหลัก ซึ่งเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน โดยจะเน้นเปิดโครงการที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในรูปแบบมิกซ์ยูส ภายใต้แบรนด์ LALIN Town ที่จะมีทั้งโครงการทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว โดยที่แบรนด์บ้านเดี่ยวและบ้านแฝดยังคงใช้แบรนด์ LANCEO เป็นแบรนด์หลักในการพัฒนา และทาวน์โฮมจะใช้แบรนด์ LIO เป็นแบรนด์หลักในการพัฒนา
ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมบริษัทยังคงชะลอแผนการพัฒนาต่อเนื่อง หลังจากที่ชะลอการพัฒนาโครงการมาแล้ว 2-3 ปี เนื่องจากปริมาณคอนโดมิเนียมในตลาดยังมีอยู่มากเกินไป ขณะที่ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง
ด้านมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ในปัจจุบันมีที่ 900 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้รายได้ของบริษัทเป็นไปตามเป้าหมายที่ 4.65 พันล้านบาท หรือเติบโต 15% จากปีก่อน ส่วนสต็อกที่พร้อมขายและโอนของบริษัทในปัจจุบันมีอยู่มูลค่ารวม 1-1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยขายออกไปเรื่อยๆ
ด้านนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร ของ LALIN กล่าวว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 62 จะยังเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3-4% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 4-4.3% จากปัจจัยบวกของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในไตรมาสแรกของปี 62 และการลงทุนของภาครัฐที่เป็นงบผูกพันต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทำให้เป็นปีสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
สำหรับเกณฑ์ LTV ใหม่ซึ่งจะเริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย. 62 เชื่อว่าจะกระทบกับบริษัทไม่มาก เพราะบริษัทเน้นทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังแรก
ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะต้องเตรียมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น และควรจะหาวิธีการระบายสต็อกเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุดก่อนสิ้นสุดไตรมาส 1/62 เพราะหลังจากไตรมาส 1/62 จะเป็นช่วงที่มาตรการ LTV เริ่มมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ลูกค้าเริ่มเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น จากเกณฑ์ที่มีความเข้มงวด ซึ่งการระบายสต็อกอาจจะเป็นการช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องที่สูงขึ้นเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนการลงทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในภาวะที่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงจากผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติที่เข้ามาลงทุน และควรที่จะหาช่องว่างทางการตลาดที่สามารถแข่งขันได้ พร้อมกับขยายฐานลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจที่มีความชำนาญอยู่แล้วต่อเนื่อง รวมถึงพยายามรักษาฐานะทางการเงินของบริษัทให้แข็งแกร่ง เพราะจะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องให้เหมาสม และการควบคุมอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินไป เพื่อให้บริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมมาต่อยอดการลงทุนตามแผน เช่นเดียวกับบริษัทที่ปัจจุบันมี D/E ต่ำเพียง 0.7 เท่า