โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) หลังมองกำไรในไตรมาส 4/61 จะทำระดับสูงสุดรายไตรมาสของปี 61 จากยอดโอนคอนโดมิเนียม Q Sukhumvit ที่มีมาริ์จิ้นสูง ประกอบกับประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีขึ้นจะช่วยผลักดันกำไรทั้งปี 61 ให้เติบโตโดดเด่น ขณะที่การเน้นพัฒนาโครงการแนวราบ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงนั้น จะทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.62 และการรักษามาร์จิ้นที่ยังอยู่ระดับที่ดี รวมถึงการโอนโครงการ Q Sukhumvit ที่ยังมีต่อเนื่องในปี 62 ก็จะช่วยหนุนภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ด้วย
ขณะที่ QH มีความโดดเด่นจากการจ่ายเงินปันผลในระดับที่ดี ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับลดลงมามากก่อนหน้านี้ ทำให้มีUpside จากราคาเป้าหมายค่อนข้างมาก ส่งผลให้หุ้นยังมีความน่าสนใจการลงทุน
พักเที่ยงหุ้น QH อยู่ที่ 2.68 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.75% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.07%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กสิกรไทย ซื้อ 3.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 3.00 ทรีนีตี้ ซื้อ 3.90 หยวนต้า (ประเทศไทย) สะสม 4.16 ไทยพาณิชย์ ซื้อ 3.70 ทิสโก้ ซื้อ 4.20 เอเซีย พลัส ซื้อ 4.48 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 3.70 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ Trading Buy 3.10
นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มกำไรของ QH ในไตรมาส 4/61 จะทำระดับสูงสุดของปี 61 จากการส่งมอบโครงการ Q Sukhumvit ซึ่งมีมาร์จิ้นสูง 37% ตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.61 โดยมียอดขายรอโอน (Backlog) รวม 3.2 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะโอนในช่วงไตรมาส 4/61 ราว 1.2 พันล้านบาท จะช่วยหนุนต่อยอดขายและกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 61
อย่างไรก็ตามได้ปรับเป้ายอดขายของ QH ในปี 61 ลดลงจากเดิม 13% มาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท หลังในช่วง 9 เดือนแรกปี 61 ทำยอดขายได้ 9.4 พันล้านบาท และ QH ยังได้ลดแผนการเปิดโครงการใหม่ในปี 61 ลงจากเดิม 15 โครงการ เหลือ 11 โครงการ แต่อย่างไรก็ตาม QH มีประสิทธิภาพการทำกำไรดีกว่าคาด ทำให้ปรับเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) เป็น 36% จากเดิม 31% และปรับลดต้นทุนประจำผ่านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A/Sales) ลดลงมาที่ 16.5% จากเดิม 16.8% ทำให้ภาพรวมกำไรปกติในปี 61 เพิ่มจากเดิมอีก 13.5% มาที่ 4.23 พันล้านบาท และคาดปี 62 จะเพิ่มขึ้นมาที่ 4.36 พันล้านบาท จากประมาณการยอดโอนที่ 1.6 หมื่นล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้น เฉลี่ย 34.6% ลดลงจากปี 61 ที่มีการขายที่ดิน
บทวิเคราะห์บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า QH สามารถรักษาระดับการทำกำไรได้ดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 และในปี 61 โดยมีสัดส่วนโครงการที่มีระดับอัตรากำไรขั้นต้นต่ำเหลือเพียง 15% ของสต็อกที่มีอยู่ ประกอบกับการไม่เน้นการขายโครงการในสต็อกอย่างในปี 60 จึงทำให้ปรับระดับอัตรากำไรขั้นต้นปี 61 ขึ้นเป็น 35.5% พร้อมทั้งปรับลดค่าใช้จ่าย SG&A ลงเป็น 16% จาก 18% รวมถึงปรับคาดการณ์กำไรปี 61 ขึ้น 17% จาก 3.56 พันล้านบาท เป็น 4.16 พันล้านบาท
นอกจากนี้ในไตรมาส 4/61 จะเริ่มโอนโครงการ Q Sukhumvit มูลค่า 9.98 พันล้านบาท ซึ่งมีระดับอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าโครงการอื่น ๆ โดยจะมีการโอนต่อเนื่องในปี 62 ดังนั้น จึงปรับกำไรปี 62 ของ QH ขึ้น 9% จาก 3.6 พันล้านบาท เป็น 3.93 พันล้านบาท แต่อาจมีการปรับตัวลดลงราว 5.8% จากปีก่อน เนื่องจากในปี 61 มีกำไรพิเศษจากการขายที่ดิน
ทั้งนี้ QH ยังมีโครงการในสต็อกอยู่ที่ 81 โครงการ มูลค่ารวม 4.65 หมื่นล้านบาท ที่จะมารองรับการขายและโอนในปี 62 พร้อมกับแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 62 จำนวน 12 โครงการ มูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท และจะทำการเพิ่มสัดส่วนโครงการระดับกลาง-บนมากขึ้น โดยจะยังคงกลยุทธ์ในการเปิดโครงการขนาดใหญ่ที่รวมหลายแบรนด์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนในการก่อสร้าง
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของ QH ในปี 61 นับเป็นปีที่ดีจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ รายได้จากคอนโดมิเนียม Q Sukhumvit ประมาณ 800 ล้านบาทในไตรมาส 4/61 ,รายได้จากการที่ดินในไตรมาส 3/61 ที่ 849 ล้านบาท , อัตรากำไรขั้นต้น ที่ปรับตัวดีขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลงทุนที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิในปี 61 ที่ 3.94 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากปีก่อนหน้า โดยในส่วนนี้มีสัดส่วนที่มาจากกำไรส่วนแบ่งของบริษัทร่วมทุน 43%
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการ LTV ของธปท. ซึ่งได้กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยเกิน 10 ล้านบาท และการซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 และ 3 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้คาดว่าแนวโน้มรายได้และผลประกอบการของ QH อาจจะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ QH ยังมีจุดเด่นที่ส่วนแบ่งจากบริษัทร่วมลงทุนที่แข็งแกร่งและผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนราว 7% ต่อปี
ด้านบทวิเคราะห์บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่ามาตรการ LTV ไม่น่าจะกระทบต่อ QH มากนัก เพราะจากการสำรวจพบว่าการเข้าเยี่ยมชมเพื่อจองบ้านของลูกค้า QH ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ลดลงมากอย่างที่กังวล ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ตลาดหลักของ QH เป็นโครงการแนวราบระดับกลางถึงสูง ซึ่งผู้ซื้อโครงการแนวราบส่วนใหญ่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง มีฐานะการเงินพร้อมก่อนซื้อ จึงไม่รู้สึกถึงผลกระทบมาก นอกจากนี้ยังเชื่อว่าผลกระทบจากมาตรการธปท. ต่อตลาดแนวราบน่าจะน้อยกว่าตลาดคอนโดมิเนียม
สำหรับยอดจองสะสมล่าสุดจนถึง 21 ธ.ค. 61 อยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 1.21 หมื่นล้านบาท และคอนโดมิเนียม 200 ล้านบาท เทียบกับเป้าหมายปี 61 ที่ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาท ก็น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย โดยโมเมมตัมของโครงการแนวราบยังไปได้ดี และการขายคอนโดมิเนียมโครงการ Q Sukhumvit เริ่มดีขึ้น หลังจาก QH ใช้เครือข่ายบมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ที่มีผู้ร่วมทุน CTBC Bank Company Limited จากไต้หวัน นำลูกค้า High Net Worth ทยอยเข้ามาช่วยเสริมยอดจอง ทำให้ภาพรวมยอดจองค่อนดี