นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (AF) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 62 ว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายรายได้จะเติบโต 20% เมื่อเทียบจากปีก่อน เป็นไปตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ ที่คาดจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากมูลค่ารับซื้อในปี 61 โดยมุ่งเน้นลูกค้าที่รับงานภาครัฐและลูกหนี้การค้าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีฐานะทางการเงินดี ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าว จะช่วยเสริมพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของบริษัทฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเน้นขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่รับงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น ด้านพลังงานทดแทน การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบออนไลน์ เพิ่มความสามารถในการรองรับการขยายธุรกิจไปตามจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในไตรมาส 1/62 โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบระบบและขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งน่าจะมีความพร้อมตามกำหนด เนื่องจากระบบออนไลน์ปัจจุบันทำให้เข้าถึงและตอบสนองกลุ่มลูกค้า ให้เข้ามาใช้บริการได้ง่ายขึ้น และสะดวกรวดเร็ว
ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับธุรกิจ อาทิ ระบบ E-factoring เพื่อเป็น Electronic operating channel สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการควบคู่กับการขยายธุรกิจแบบ B2B ระหว่าง AF – Partners โดยคาดว่าจะพัฒนาระบบเสร็จก่อนไตรมาส 2/62 ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอนด้านปฏิบัติการ เช่น ลดระยะเวลาการนำเอกสารมาขายลดลูกหนี้ จากเดิม 2-3 วัน เหลือเพียงภายใน 1.5 วันทำการ การลดเวลาปฏิบัติการจะทำให้ลดต้นทุนดำเนินงานทั้งของ AF, ลูกค้า และลูกหนี้การค้า ทำให้รองรับปริมาณธุรกรรมได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนลดปริมาณกระดาษและวัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ ลงได้ในระยะยาว
"ในส่วนของแผนการขยายงานได้มีการปรับมาตั้งแต่ไตรมาส 3/61 ด้วยการทยอยนำร่องด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าแฟคตอริ่งเดิม เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับแต่ละกลุ่มธุรกิจ ตามความเหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก ที่มีความชัดเจนและตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นสำหรับธุรกิจจัดจำหน่าย"นายอัครวิทย์ กล่าว
นายอัครวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจแฟคตอริ่งในปีนี้ คาดว่าน่าจะทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ น่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตลอดจนแนวโน้มการบริโภค การลงทุนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจแฟคตอริ่งในการขยายตัว ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเริ่มมาตรการบัญชีเดียวสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะส่งผลให้กลุ่ม SMEs ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ จะเป็นกลุ่มที่สร้างโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจแฟคตอริ่งในปีนี้
พร้อมกันนี้ AF มีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐาน ครอบคลุมทั้งด้าน Credit Risk, Operating Risk และอื่นๆ โดยมีนโยบายเครดิตและระเบียบปฏิบัติที่ผ่านการปรับปรุงให้สอดคล้องสภาวการณ์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับควบคุมได้
"แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล สำหรับธุรกิจ SMEs เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว แต่อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุน เร่งขอสินเชื่อ เพื่อบริหารต้นทุนเงินกู้ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก"นายอัครวิทย์ กล่าว