FETCO ระบุดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลงต่อเนื่อง กังวลนโยบายการค้าสหรัฐ-จีน,ดอกเบี้ยขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 10, 2019 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ม.ค.62 ดัชนีรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.62) ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกันอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 120-159) โดยลดลง 5.25% มาอยู่ที่ระดับ 92.75

จากผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐ การไหลเข้าออกของเงินทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 39 เดือนอยู่ที่ Zone ซบเซา (Bearish) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนธันวาคม เคลื่อนไหวปรับตัวลดลงตลอดเดือน จากระดับสูงสุดที่ 1672 จุด มาต่ำสุดที่ 1548.37 จุด ก่อนมาปิดที่ 1563.88 จุด จากความกังวลผลกระทบการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่คืบหน้า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายชองสหรัฐ 0.25% มาอยู่ที่ 2.00-2.25% การประกาศยุติมาตรการ QE ของ ECB การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและโลกปี 62"

ผลสำรวจ ระบุว่า หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมาจากการปรับนโยบายทางการเงินของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง

ด้านผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่มองว่าหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) หมวดเหล็ก (STEEL) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด

นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ความคืบหน้าการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐลงเหลือ 2 ครั้งในปี 62 การโหวตข้อตกลง Brexit ในสภาอังกฤษในเดือน ม.ค. และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการเข้าสู่การเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นในช่วงต้นปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ