นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ม.ค.62 ดัชนีรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มี.ค.62) ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกันอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 120-159) โดยลดลง 5.25% มาอยู่ที่ระดับ 92.75
จากผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐ การไหลเข้าออกของเงินทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 39 เดือนอยู่ที่ Zone ซบเซา (Bearish) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนธันวาคม เคลื่อนไหวปรับตัวลดลงตลอดเดือน จากระดับสูงสุดที่ 1672 จุด มาต่ำสุดที่ 1548.37 จุด ก่อนมาปิดที่ 1563.88 จุด จากความกังวลผลกระทบการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่คืบหน้า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายชองสหรัฐ 0.25% มาอยู่ที่ 2.00-2.25% การประกาศยุติมาตรการ QE ของ ECB การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและโลกปี 62"
ผลสำรวจ ระบุว่า หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมาจากการปรับนโยบายทางการเงินของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง
ด้านผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่มองว่าหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) หมวดเหล็ก (STEEL) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด
นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ความคืบหน้าการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐลงเหลือ 2 ครั้งในปี 62 การโหวตข้อตกลง Brexit ในสภาอังกฤษในเดือน ม.ค. และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการเข้าสู่การเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นในช่วงต้นปี 62
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้อยู่ที่ 1,782 จุด โดยสถานการณ์ต่างๆเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเปิดเผยว่าจะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่ยึดติดกับโรดแมพเดิมที่เคยทำไว้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทุกๆ ไตรมาส และการดึงสภาพคล่องออกจากระบบก็จะนำสถานการณ์ต่างๆเข้ามาประเมินด้วย ส่งผลให้ตลาดคลายกังวลมากขึ้น
ส่วนเรื่องสงครามทางกาค้าระหว่างจีนและสหรัฐนั้นแม้ปัจจุบันยังไม่ได้มีผลของการเจรจาออกมา แต่มองว่าน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ด้านปัจจัยที่ยังต้องติดตามอยู่คือเรื่องของ Government Shutdown แม้ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนจะไม่ให้ความสำคัญมากนัก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาและอาจจะมีระยะเวลาอีกนานนักลงทุนจึงเริ่มกลับมาให้ความสนใจมากขึ้น
ปัจจัยในประเทศก็ต้องติดตามเรื่องการเมืองที่ยังต้องติดตามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาเร็วๆก็จะทำให้ความกังวลเหล่านี้หายไป ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนสับสน อีกทั้งจะเห็นว่าเงินเริ่มไหลเข้าไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) แล้วแต่ประเทศไทยยังคงมีเงินทุนไหลออกอยู่ แสดงให้เห็นว่าต่างชาติก็ติดตามประเด็นนี้เช่นกัน ซึ่งหากว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยดี จัดตั้งรฐบาลได้ และมีเสถียรภาพ เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ร้อนแรงอีกครั้ง
"หลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินลง เชื่อว่าปีนี้ตลาดฯจะสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งปีก่อนเราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเกือบทั่วโลกรวมทั้งของประเทศไทยด้วย แน่นอนหากเศรษฐกิจร้อนแรงขนาดนี้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอยู่เฉยไม่ได้จะต้องมีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจริงๆแล้วตลาดหุ้นชอบเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรง อยู่กลางๆ ไม่ร้อนแรงเกินไป ไม่แย่เกินไป ตรงนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากปีก่อนจึงเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี"นายไพบูลย์ กล่าว
https://youtu.be/rKvx3-sCciQ