PTTGC ลุ้นผลวิจัยวัตถุดิบไบโอพลาสติกชัดเจนปลายปีนี้ ก่อนเดินหน้าตั้งรง.ผลิต PLA ในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 11, 2019 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทดลองเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียด้วยน้ำตาลอ้อย เพื่อผลิตเป็น Lactic Acid ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) ในประเทศไทย โดยคาดว่าผลงานวิจัยดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะมีความเหมาะสมในการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เฟสที่ 2 ในจ.นครสวรรค์ต่อไป

โดยปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่ การทำวิจัย โดยบมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม , บริษัท Myriant Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดวันนี้ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีการศึกษางานวิจัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน

"ปลายปีนี้ก็น่าจะแชร์ research ว่าเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจนำไปสู่ commercial scale ซึ่งก็จะมาทำที่เมืองไทย"นายปฏิภาณ กล่าว

นายปฏิภาณ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทผลิต PLA ผ่านทางถือหุ้น 50% ในบริษัท NatureWorks LLC ในสหรัฐ โดยใช้ lactic acid ที่ผลิตจากน้ำตาลข้าวโพด แต่เมืองไทยมีปริมาณข้าวโพดไม่มาก ขณะที่มีการผลิตอ้อยจำนวนมากจึงได้ทำงานวิจัยเพื่อผลิต Lactic Acid จากน้ำตาลอ้อย ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยแต่ยังไม่มีการทำในระดับที่นำไปสู่เชิงพาณิชย์ บริษัทจึงอยู่ระหว่างการศึกษาในระดับเชิงพาณิชย์ โดยได้มีการผลิต Lactic Acid ในห้องแล็ปอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ปัจจุบันเป็นความร่วมมือระหว่าง GGC และ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น (KTIS) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการเฟสที่ 1 ที่จะนำอ้อยมาหีบเป็นน้ำอ้อย เพื่อผลิตไบโอเอทานอล และในอนาคตจะต่อยอดเฟส 2 ซึ่งเป็นการผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีความเหมาะสมและมีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกนั้น ประกอบด้วย 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ PLA และ Polybutelene Succinate (PBS) โดย PLA เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติแข็งและใส กระบวนการย่อยสลายค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่าย แต่ราคาผลิตภัณฑ์แพงกว่าพลาสติกทั่วไปเพียง 1 เท่า ขณะที่ PBS เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัตินุ่ม และสามารถย่อยสลายได้เลยเอง แต่ราคาผลิตภัณฑ์แพงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 4 เท่า ปัจจุบันบริษัทมีการผลิต PBS ในระดับเชิงพาณิชย์ ที่จ.ระยอง ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี แต่มีการผลิตจริงในระดับ 4 พันตัน/ปีเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออก

"สิ่งที่เราศึกษาว่าจะสามารถเอา 2 ตัว คือ PLA และ PBS มาผสม หรือเอาตัวที่ 3 มาผสมเพื่อลดต้นทุน หรือเพื่อให้เกิดการย่อยสลายได้เร็วขึ้น ซึ่งเมื่อศึกษาได้แล้วก็จะนำมาเดินหน้าโครงการไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2 ต่อไป"นายปฏิภาณ กล่าว

นายปฏิภาณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การใช้ไบโอพลาสติกยังมีไม่มากนักในตลาด เนื่องจากยังมีราคาแพง แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากที่หลายประเทศในแถบยุโรปเริ่มรณรงค์การไม่ใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทบ้าง แต่บริษัทก็เตรียมพร้อมและวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) หมดไป ซึ่งปัจจุบันที่บริษัทมีการผลิตราว 1.5 แสนตัน/ปี จากกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรวมที่ 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทก็อยู่ระหว่างทำการตลาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนการผลิต Single use เป็น Multi use เช่น ท่อ,สายไฟ,เส้นใย เป็นต้น หรือหากจำเป็นต้องมีการใช้ในรูปแบบของ Single use ก็จะแนะนำให้เป็นการใช้ในรูปแบบของไบโอพลาสติกทดแทน

สำหรับวันนี้ บริษัทและมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBS(TM) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ โดยพัฒนาเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และหลอดไบโอพลาสติก ภายใต้นโยบาย Be Smart Be Green ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลพลาสติกแบบย่อยสลายได้ และความร่วมมือส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการใช้และการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ