บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และโรงกลั่น(PTTAR)คาดรายได้ปี 51 เติบโต 20% เป็น กว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากผลผลิตจากโรงงานผลิตอะโรเมติส์ 2 จะเริ่มเข้ามาในเดือน ส.ค.นี้ และจะป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้และกำไรในปี 52 เติบโตอย่างก้าวกระโดด
พร้อมเห็นว่า ราคาผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าราคาพาราไซลีนเฉลี่ยปี 51 อยู่ที่ 1,100 เหรียญ/ตัน ใกล้เคียงกับปี 50 ถือว่ายังทรงตัวในระดับสูง จึงเห็นว่ายังไม่ใช่อยู่ในช่วงขาลง และส่วนต่างราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์(สเปรด) ในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 422 เหรียญสหรัฐ/ตัน
"มองว่าช่วงนี้ต้นทุนวัตถุดิบขึ้นทำให้สเปรดลดลงเป็นแค่ระยะสั้น คงไม่ได้ยาวไปตลอด เราคิดว่าสเปรดน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว...วอลุ่มปีนี้เราโตขึ้น เพราะมีโรงอะโรเมติกส์ 2 ขึ้นมา ผลประกอบการสูงขึ้นกว่าปีก่อนแน"นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTAR กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายเพิ่มศักดิ์ เห็นว่า ในปีนี้อย่างน้อยกำไรจะไม่ต่ำกว่ากำไรทั้งสองบริษัทคือ บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) (ATC)และบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) รวมกันในปีก่อน แต่วันนี้มาร์จิ้นเท่าเดิม หากจะมีกำไรเพิ่มขึ้นก็คงมาจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปี 52 รายได้และกำไรจะก้าวกระโดด หลังจากบริษัทรับรู้รายได้เต็มที่จากโรงอะโรเมติกส์ 2 ที่คาดว่ามีรายได้ 6 หมื่นล้านบาท รวมกับโรงอะโรเมติกส์ 1 จะทำให้มีรายได้จากอะโรเมติกส์รวมกันประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมของธุรกิจโรงกลั่น
"ในปี 52 จะเห็นการเติบโตเต็มที่ จากโรง 2 รับรู้รายได้เต็มปี กับ การ synergy เริ่มเห็นผล แนวโน้มกำไรก็จะเห็นชัดเจน" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ PTTAR หลังควบรวมจะมีกำลังการผลิตอะโรเมติกส์เพิ่มเป็น 2,228,000 ตัน/ปี จาก 1,189,000 ตัน/ปี ส่วนกำลังการกลั่นจะเพิ่มเป็น 280,000 บาร์เรล/วัน จาก 145,000 บาร์เรล/วัน
นายเพิ่มศักดิ์ ยังกล่าวว่า ภายในปีนี้ PTTAR จะมีการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 51-55) เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะรอผลสรุปการศึกษา 3 โครงการ ซึ่งเมื่อผลการศึกษาเสร็จก็ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งก่อนจะทบทวนแผนการลงทุน
"แผน 5 ปี จะเริ่มลงทุนเริ่มจริงก็เป็นปี 52 และมีความเป็นไปได้ในการทบทวนแผนกานลงทุน ขึ้นอยู่กับการศึกษา ในส่วน synergy project คงไม่เปลี่ยนแปลง...โครงการใหม่ ก็อาจมีย่อยมากกว่านี้ " นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ แผนลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี เงินลงทุน 365 ล้านเหรียญ, โครงการผลิตสไตรีนโมเนอร์ ใช้เงินลงทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ลงทุนในโรงงานปิโตรเคมีปลายน้ำ ใช้เงิน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--