โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" BCH มองผลงาน Q4/61 เติบโตจากงวดปีก่อน จากผู้ป่วยเงินสดเพิ่ม-WMC ดีต่อเนื่อง,รัฐคุมค่ายา-บริการยาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 18, 2019 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) หลังมองผลการดำเนินในไตรมาส 4/61 จะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผู้ป่วยเงินสดเพิ่มมากขึ้น และรับอานิงส์จากโรงพยาบาลเวิลด์ เมดิคอล เซ็นเตอร์(WMC) ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 62 ผลการดำเนินงานจะยังเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยเงินสดและประกันสังคม

ส่วนประเด็นมาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลและค่ายานั้น มองว่าเป็นไปได้ยากในทางปฎิบัติ เนื่องจากการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากโรงพยาบาล ให้ความเห็นว่าการกำหนดราคายาทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้นทุนแต่ละโรงพยาบาลต่างกัน ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชี้แจงว่าการคุมค่ารักษาพยาบาล ขัดกับพ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 และประกาศสาธารณสุข จึงมองว่าการผลักดันมาตรการดังกล่าวยังต้องใช้เวลา แต่เบื้องต้นเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจริง ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อ BCH อย่างมีนัยสำคัญ

ราคาหุ้น BCH ปิดภาคเช้าอยู่ที่ 15.20 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 1.3% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.12%

          โบรกเกอร์                        คำแนะนำ                     ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          หยวนต้า (ประเทศไทย)                ซื้อ                           23.20
          เคจีไอ (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           21.50
          เอเชีย เวลท์                        ซื้อ                           22.00
          ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)         ซื้อ                           19.30

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเมินกำไรสุทธิในไตรมาส 4/61 ของ BCH จะออกมาแข็งแกร่งระดับ 282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากงวดปีก่อน แต่ลดลง 20.9% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของ WMC และรายได้จากผู้ป่วยเงินสดเพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ดี โดยได้ประมาณการกำไรสุทธิปี 61 ไว้อยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท หรือเติบโต 20.3% จากปีก่อน

พร้อมกันนี้มองผลการดำเนินงานในปี 62 น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยเงินสดและประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมองประเด็นการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลและค่ายา น่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลและยาที่แตกต่างกัน

"เรามองว่าหากมาตรการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลและค่ายาเกิดขึ้นจริง ก็อาจส่งผลเสีย เนื่องจากมีโอกาสไปลดความสามารถการทำกำไรของโรงพยาบาลเอกชน แต่ถ้าหากไม่เกิดขึ้นก็จะเป็นผลดี แต่อย่างไรก็ตามสำหรับ BCH เราเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบกับผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ"นายปริญทร์ กล่าว

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิของ BCH ในไตรมาส 4/61 จะอยู่ที่ 301 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องด้วยในไตรมาส 3/61 เป็นช่วง High Season ของธุรกิจ แต่ปรับตัวขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 จากจำนวนลูกค้าเงินสดที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จำนวนผู้ป่วยเงินสด IPD โตกว่า 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังย้ายกลุ่มคนไข้ประกันสังคมไปยังโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ ทำให้ Capacity รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ที่ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 18% จากปี 61 ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าเงินสดและประกันสังคม โดยผู้ป่วยเงินสดคาดจะขยายตัวต่อเนื่อง จาก Organic Growth ราว 5% ต่อปี และยังได้รับผลบวกเต็มปีจากการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 3 ศูนย์ที่เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในไตรมาส 4/61 และในเดือน พ.ค.62 เตรียมเปิดศูนย์เด็กหลอดแก้ว (IVF) เพิ่ม รองรับกลุ่มลูกค้าจีน โดยตั้งเป้า 30 เคส/เดือน คาดเพิ่มรายได้ราว 14 ล้านบาท/เดือน

จำนวนผู้ประกันตนโครงการประกันสังคม คาดเพิ่มราว 9% จากปัจจุบันเป็น 880,000 ราย รองรับการเปิดให้บริการโรงพยาบาลเกษมราษฏร์รามคำแหง ในไตรมาส 4/61 ตลอดจนรับผลบวกเต็มปีจากโรงพยาบาล WMC ที่เริ่มทำกำไรตั้งแต่ไตรมาส 2/61 ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกำไรมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 13.5% ในปี 61 เป็น 14.4% ในปี 62

ส่วนประเด็นการควบคุมค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการนั้น มองว่าเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากโรงพยาบาล ให้ความเห็น ว่าการกำหนดราคายาทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้นทุนแต่ละโรงพยาบาลต่างกัน ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แย้งว่าการคุมค่ารักษาพยาบาล ขัดกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 และประกาศสาธารณสุข จึงมองว่าการผลักดันมาตรการดังกล่าวต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตามยังคงมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการของ BCH ในไตรมาส 4/61 ถึง ไตรมาส 1/62 โดยคาดว่าผลประกอบการจะเติบโตดีต่อเนื่อง และโดดเด่นสุดในกลุ่มโรงพยาบาล จากฐานกลุ่มลูกค้าเงินสดและกลุ่มประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาปัจจุบันปรับลดลง 15% ในช่วง 1 เดือน จากความกังวลต่อประเด็นการควบคุมค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการ ซึ่งยังเห็นว่าทำได้ยากในทางปฏิบัติ จึงมองว่าเป็นโอกาสในการ "ซื้อ"

ด้านบาทวิเคราะห์บล.เอเชีย เวลท์ มองว่าแนวโน้มผลการดำเนินงาน BCH ในไตรมาส 4/61 และปี 62 จะยังเติบโตดี หนุนโดยกลุ่มประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น และโรงพยาบาล WMC ที่คาดจะมีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่มองว่าการควบคุมค่ายาอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค และโดยปกติแล้วคนไทยทุกคนมีสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น โครงการประกันสังคม, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง คาดว่าการกำหนดเพดานราคาจะมีการคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละโรงพยาบาลมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและนำเสนอระดับการบริการที่แตกต่างกัน

นอกเหนือจากนั้นมองว่าการที่ BCH มีสัดส่วนรายได้กลุ่มประกันสังคมสูงถึง 35% ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 62 ที่ 1.26 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ