(เพิ่มเติม) กสทช. คาดเปิดประมูลคลื่น 700 MHz ได้ในธ.ค.62 ก่อนเปิดใช้ปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 18, 2019 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ขึ้นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ว่า กสทช. คาดว่าจะสรุปร่างประกาศฯ ให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือนเม.ย.62 จากนั้นจะใช้เวลาในการทำแผนความถี่โทรทัศน์ใหม่ รวมถึงการประเมินมูลค่าคลื่นและการทำแผนโครงข่าย ราว 8 เดือน และจะเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้ประมาณเดือนธันวาคม และใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ในการชำระค่าประมูลคลื่น 20% ขั้นต่อไปจึงเป็นการปรับเปลี่ยนโครงข่ายประมาณ 10 เดือน ซึ่งผู้ชนะประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จะเริ่มใช้คลื่นได้ในเดือนธ.ค.63

"การประมูลถ้าเร็วกว่าเดือนธ.ค. 62 คงไม่มีประโยชน์ เพราะการปรับโครงข่ายยังไม่เรียบร้อย ประมูลเร็วไปผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเร็ว แต่ยังเอาคลื่นไปใช้ไม่ได้ ส่วนที่โอเปอเรเตอร์บางรายแสดงท่าทีในการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์มา คิดว่าระยะเวลาจะช่วยแก้ไขปัญหา 5G เป็นเม็ดเงินเม็ดใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความจำเป็นของผู้ประกอบกิจการทุกราย"

ปัจจุบัน คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นที่ใช้เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล แต่เพื่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และเพื่อส่งเสริมการสื่อสารและสร้างองค์ความรู้ของประชาชนทั่วประเทศผ่านสื่อโทรทัศน์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (5G) และนำเงินที่ได้จากการจัดสรรใหม่มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการ ตาม (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz

ทั้งนี้ (ร่าง) ประกาศฯ จะช่วยให้สามารถนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้สำหรับกิจการ 5G ได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการมีความสอดคล้องและต่อเนื่อง รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ทั้งมิติของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิติภาคประชาชน และมิติของผู้ที่จะเข้ามาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz (ร่าง) ประกาศฯ จึงกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ การทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และการนำคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ไว้ในประกาศฉบับเดียวกัน

ในส่วนของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน กำหนดให้เรียกคืนคลื่นย่าน 694 – 790 MHz (ช่วง 703 - 738 MHz คู่กับ 758 - 793 MHz รวม 2 x 35 MHz) จากผู้ประกอบกิจการภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เพื่อนำมาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมหรือสำหรับเทคโนโลยี 5G โดยได้กำหนดการทดแทน ชดเชย หรือจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งได้แก่ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย และผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ

สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนเท่ากับมูลค่าเงินประมูล 1 งวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ และ 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ รวมถึงค่าเช่าบริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) และ ค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)

ส่วนผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย และผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายโทรทัศน์ หรือค่าผลกระทบโดยตรงที่ผู้ให้บริการโครงข่ายได้รับจากการปรับเปลี่ยนการให้บริการ

ในส่วนของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz กำหนดให้

  • ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ใบละ 2 x 5 MHz อายุใบอนุญาต 20 ปี
  • ใช้วิธีประมูลแบบหลายรอบ และราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
  • ราคาขั้นต่ำเป็นไปตามหนังสือชี้ชวนตามที่คณะกรรมการประกาศ
  • เสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งตามกฎการประมูล
  • แต่ละรายให้ประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุดคลื่นความถี่ หรือ ไม่เกิน 2 x 15 MHz
  • ผู้ชนะผ่อนจ่าย 9 งวด งวดแรก 20% งวด 2 – 9 อัตรา 10%
  • กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่น ๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน

ด้านนายเขมทัต พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) กล่าวว่า การนำคลื่น 700 MHz กลับไปใช้งานให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะนอกจากจะเป็นการเอาคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ไปสร้างความคุ้มค่า แล้วยังช่วยจำนวนโครงข่ายกับผู้ประกอบการเหมาะสม โดยหลังจากนี้คงจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับ กสทช. และหากกสทช.มีกรอบเวลาในการผ่อนคลายการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ที่เหมาะสม และกำหนดราคาค่าประมูลขั้นต่ำของคลื่น 700 MHz น่าจะทำให้คลื่นได้รับความสนใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ