นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 62 จะเห็นความชัดเจนของการนำระบบต้นแบบของการซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Platform) ที่เป็นการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นหลักทรัพย์ดิจิทัล โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการศึกษาการพัฒนาระบบการซื้อขายจากผู้อื่นที่มีการทำระบบดังกล่าว และได้ให้บุคลากรในตลาดหลักทรัพย์ฯพัฒนาเองไปพร้อม ๆ กันด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการระบบซื้อขายหลักทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่สามารถรองรับความเสี่ยงสูงได้เพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มการให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ฯที่สามารถเข้าถึงนักลงทุนได้หลากหลายกลุ่ม ประกอบกับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปัจจุบันที่มีช่องทางในการระดมทุนเพิ่มขึ้น พร้อมกับให้บริษัทใหม่อื่น ๆ สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้
"เรากำลังดูระบบต้นแบบของคนอื่นๆและมีการพัฒนาเองประกอบไปด้วย ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นความชัดเจนของระบบนี้ ซึ่งผมมองว่า Digital Asset ไม่จำเป็นต้องเป็น Cryptocurrency แต่เราสามารถแปลงสินทรัพย์มาเป็น Digital Form ยกตัวอย่างเช่น หากหุ้น PTT ราคาหุ้นขึ้นไปสูงถึงหลักพัน นักลงทุนจะเอาที่ไหนมาซื้อหุ้น เพราะต้องซื้อขั้นต่ำ 100 หุ้น เราจึงคิดว่าทำวิธีนี้สามารถเปลี่ยนหุ้น PTT ให้ราคาเหลือ 10-20 บาท/หุ้น ได้ด้วยการ Spilt ออกมาเป็น PTT Digital ซึ่งเป็นการทำ Securitizes ของ Asset ที่มีอยู่แล้วให้ออกมาเป็น Digital Asset และอีกมุมมองหนึ่งหากบริษัทใหญ่ๆในไทยอยากแยกธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจ R&D ที่ยังมีความเสี่ยงสูง ก็สามารถแยกออกมาระดมุทนในวิธีนี้ได้ เพื่อให้นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เข้ามาลงทุนได้"นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบการซื้อขายใหม่ของตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นการรองรับต่อการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intel ligence หรือ AI) เข้ามาใช้ ในการทำงานมากขึ้น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อการขยายบริการและเพิ่มความสะดวกในการให้บริการ
อีกทั้งยังมีความท้ายทายหลังจากที่พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯฉบับใหม่ที่จะออกมา ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการทำงานของบริษัทจดทะเบียนด้วย โดยที่พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯฉบับใหม่นี้ได้ระบุว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีตลาดหลักทรัพย์ฯเพียงแห่งเดียว และได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ทำให้เกิดความท้าทายของการแข่งขันที่สูงขึ้น
"ในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯยังเผชิญความท้าทาอยู่มาก จากพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ที่ออกมา ทำให้การทำงานต้องมีการเปลี่ยนแปลง กระทบการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย ทำให้เป็นสิ่งที่เราต้องมาคิดว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร จาก Landscape ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราต้องปรับตัวให้สอดคลอ้งและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น"นายภากร กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯยังคงเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทุกบริษัทมีการจัดทำระบบธรรมาภิบาลที่ดีมากขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการยกระดับให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจบริษัทขนาดเล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น เพราะปัจจุบันนักลงทนต่างชาติส่วนใหญ่สนใจเข้าลงทุนเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่คิดคำนวณในดัชนี MSCI และ DJSI ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนไทยถูกคิดคำนวณเพียง 30 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 760 บริษัท ซึ่งถือว่ามีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ถูกคิดคำนวณในดัชนีดังกล่าวน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในจีนที่มีบริษัทจดทะเบียนถูกคิดคำนวณเข้ามา 200 บริษัท ทำให้ความน่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในไทยมีตัวเลือกที่น้อยกว่าบริษัทจดทะเบียนในจีน และส่งผลต่อความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลง
ปัจจุบันถือว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มมีบทบาทในการช่วยผลักดันตลาดหุ้นไทยให้เติบโตขึ้น เพราะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาถึง 40% ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเล็งเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทควรมีการจัดทำระบบธรรมาภิบาลที่ทำด้วยความเต็มใจมากขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดหุ้นที่น่าสนใจตลาดหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน