นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เชิญตัวแทนกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่มซีพี) และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการ 2.2 แสนล้านบาทมาเจรจาในช่วงเช้าวันนี้
คณะกรรมการคัดเลือกฯ รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติม หรือซอง 4 ของกล่มซีพี โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ สามารถรับข้อเสนอซอง 4 ไว้เพียง 3 ประเด็น จากที่เสนอมาทั้งหมด 11 ประเด็น เพราะอีก 8 ประเด็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ ส่วน 1 ใน 3ประเด็นที่รับข้อเสนอไว้ก็เป็นการรับอย่างมีเงื่อนไข ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศของระบบราง ซึ่งเห็นว่า รฟท.ต้องพิจารณาก่อนและควรจะร่วมมือด้วย
จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ เข้าสู่การเจรจากับตัวแทนกลุ่มซีพีที่นำเสนอเอกสารเงื่อนไขสัญญามากกว่า 200 หน้ามาให้พิจารณา โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดแบ่งไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มข้อเสนอที่อยู่นอกกรอบอำนาจคณะกรรมการคัดเลือกฯ 2.กลุ่มข้อเสนอที่ไม่เป็นไปตามทีโออาร์ 3.กลุ่มข้อเสนอที่มีผลลต่อรัฐบาล และ รฟท. และ 4. กลุ่มข้อเสนอที่เจรจาได้ง่าย
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ รฟท.จะนำส่งหนังสือให้กลุ่มซีพีเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าคณะกรรมการคัดเลือกรับข้อเสนอซอง 4 ไว้ 3 ประเด็น และกรอบการเจรจาต่อรอง มี 4 กลุ่ม โดยกลุ่มซีพี ต้องการแจ้งพันธมิตร โดยเฉพาะต่างชาติก่อน และให้ระบุว่าจะเจรจากลุ่มไหนก่อนโดยคาดว่าอย่างเร็วน่าจะนัดเจรจาต่อรองภายในวันที่ 25 ม.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงนามสัญญาในโครงการนี้ไม่น่าจะทันตามที่กำหนดไว้ภายใน 31 ม.ค. 62 และคงต้องรายงานทางรัฐบาลให้ทราบ
"ข้อเสนอ(เงื่อนไขสัญญา)โดยรวมก็ดีนะ อยากให้โครงการเดินหน้า ทำให้เราเห็นว่ากลุ่มการเจรจาง่ายขึ้น แต่ผลประโยชน์ประสิทธิภาพโครงการก็อยู่ในซอง 4 ซึ่งเราก็มีสิทธิไม่พิจารณา เพราะมันไม่เกี่ยวกัน แต่จะมีประโยชน์กับโครงการไหม ก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากัน"นายวรวุฒิ กล่าว
นายวรวุฒิ เปิดเผยว่า ข้อเสนอของกลุ่มซีพีระบุว่ามีความสนใจทำเส้นทางส่วนต่อขยาย (Spur Line) การเพิ่มสถานี การย้ายสถานีก็ทำได้ โดยใส่ไว้ในเงื่อนไขของสัญญาเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากันได้ในอนาคต เพราะอายุสัญญาโครงการมีระยะเวลานาน 50 ปี อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา ซึ่งไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ในตอนนี้ไว้ได้เพราะไม่มีระบุไว้ในทีโออาร์
ทั้งนี้ หากทางกลุ่มซีพี ยื่นข้อเสนอต่างไปจากกรอบทีโออาร์ ซึ่งอยู่นอกเหนือโครงการที่ รฟท.ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หาก รฟท.เห็นคล้อยตามเอกชนก็ต้องหารือกัน แต่ก็คงปรับทีโออาร์ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในอำนาจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มซีพี สามารถยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีได้ แต่ขณะนี้ยืนยันว่าไม่มีข้อเสนอการันตีรายได้อย่างที่เป็นข่าว
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเห็นประโยชน์ตามข้อเสนอของกลุ่มซีพีที่รับไว้พิจารณาก็สามารถตอบรับได้ ทั้งนี้ กลุ่มซีพีต้องการเสนอเงื่อนไขที่จะทำให้ความเสี่ยงการดำเนินโครงการลดลง โดยในเชิงธุรกิจกลุ่มซีพีมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญการเดินรถก็จะเห็นความเสี่ยงธุรกิจ ท้ายสุด รฟท.ก็ต้องเสนอรัฐบาล
ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นนั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า เป็นไปตามเงื่อนไขทีโออาร์ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือไม่สามารถเปลี่ยนอัตโนมัติได้ ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ต้องคงอยู่ตามที่ได้ยื่นไว้เมื่อเข้าเสนอซองประมูล เพราะมีบางโครงการให้ยืมชื่อมาเมื่อถึงเวลาดำเนินการกลับถอนตัว แต่หากจะปรับสัดส่วนก็ต้องแจ้งให้มีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ส่วนการพัฒนาที่ดิน รฟท.แนะนำให้พัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือTOD) เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่พัก โรงแรม สำนักงาน แต่เปิดกว้างมากไม่ได้ แต่กำหนดลงทุนต้องเกิน 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินมักกะสัน
"เขาหนักเรื่อง concept อยากให้โครงการไปรอด...เขากังวลว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็จะเกิดความเสี่ยงเยอะ ต้องบริหารความเสี่ยงถ้ามันสะดุดก็อาจจะทำต่อไม่ได้ เกิดความเสียหาย ทำธุรกิจก็อยากบริหารความเสี่ยงที่รับได้ ควบคุมได้ เขาก็มองในมุมนักธุรกิจ โครงการที่เรากำหนดไว้ทีโออาร์มันไปได้แต่เสี่ยงสูงถ้าเกิดโน่นเกิดนี่เกิดนั่น
สิ่งที่เขาพูดมาในวงการธุรกิจอาจมุมมองต่างกับรัฐบาล คือทำกับรัฐบาลเสี่ยงสูงหน่อยนะแต่มันก็ไปได้ อย่าง Ridership ก็เป็นความเสี่ยงที่เขารู้อยู่แล้ว ถ้าเขาทำเขาจะได้เท่าไร วิธีการที่รัฐบาลจะชดเชย ถ้าเกิดปรับราคา เช่น เหล็กขาด นอกจากนี้ เอกชนก็ต้องหาแหล่งเงินมาเอง ซึ่งก็มีแหล่งเงินอยู่แล้ว แต่ว่าความเสี่ยงสูงเพราะดอกเบี้ยสูง"นายวรวุฒิ กล่าว