ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เผยผลการดำเนินงานปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 35,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2560 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 121,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 7.1% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.40% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 9.1% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าจะมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเติบโตดี ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.4%
ในไตรมาส 4 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 2,765 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 5,346 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2561 และจำนวน 4,617 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2560 สำหรับ ปี 2561 มีค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 21,965 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 22,370 ล้านบาท ในปีก่อน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,083,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากสิ้นปี 2560 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงเป็น 3.4% ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 190.9%
ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2561 รวมเข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณ 18.7% , 17.2% และ 17.2% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของส่วนที่เป็นของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 412,814 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 216.26 บาทต่อหุ้น
BBL ระบุว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ 4.1% เพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในปีก่อน โดยภาคการส่งออกชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลกและความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวดีกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากยอดขายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และปิโตรเคมี ซึ่งรองรับความต้องการภายในประเทศที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ในด้านของดิจิทัล กระแสของโลกยุคดิจิทัลทำให้เกิดโอกาสในการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดังกล่าวมากขึ้น ในช่วงต้นปี 2561 ธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับปี 2562 คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลง จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งยังมีโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารยังคงสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างมั่นคง ในขณะที่ธนาคารยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน