นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริการ (AUM) ปี 62 เติบโตมากกว่า 10% หรือมาอยู่ที่ 878,000 ล้านบาท จากปีก่อน 776,382 ล้านบาท
ในปีนี้บริษัทมีแผนเปิดจำหน่ายกองทุนใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้นราว 3-5 กองทุนขึ้นไป เช่น กองทุนเปิดกรุงไทย สตราทีจิก แอคทีฟ โกลบอล แอลโลเคชั่น (KT-SAGA) ซึ่งจะเปิดจำหน่ายในช่วงกลางเดือน ก.พ.62 เน้นลงทุนแบบ Fund of Fund ผ่านกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศเป็นหลักตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป โดยจะเลือกลงทุนในต่างประเทศ ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ /REIT ทองคำและน้ำมัน เป็นต้น
นางชวินดา กล่าวว่า กองทุน KT-SAGA จะตอบโจทย์นักลงทุนทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงการลงทุนในต่างประเทศทั่วโลกผ่านการเลือกลงทุนใน ETF ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนง่ายต่อนักลงทุนที่ไม่มีเวลาติดตามการลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเองและเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศและต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่า Benchmark ในระยะกลางถึงยาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุมัติจัดตั้งกองทุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก. ล. ต.)
"ในปีนี้เราอยากจะรักษาเป้าหมายเดิม โดยอยากเห็น AUM เติบโตมากกว่า 10% จากปี 61 ที่ทำได้ 8.7% จากการกระจายการเติบโตของทุกประเภทกองทุน โดยเฉพาะกองทุนรวม หรือ Mutual Fund ซึ่งเป็นรีเทล โดยจะเริ่มต้นด้วยกองทุน KT-SAGA ที่จะออกในเดือนก.พ.นี้ ส่วนกองทุนถัด ๆ ไป ก็จะเป็นกองที่ conservatives เพื่อรองรับความผันผวน เนื่องจากต้องการให้มีความมั่นคงในผลตอบแทนของลูกค้า ซึ่งเป้าหมายปีนี้จะออกกองทุนอย่างน้อย 3-5 กองทุน"นางชวินดา กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 61 บริษัทมี AUM เติบโตประมาณ 8.7% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโตราว 3.4% โดยทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานที่มี AUM อยู่ที่ 109,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% เนื่องจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund-TFFIF) และบริษัทเป็นทรัสต์ให้กับทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ 1 กองทุน
ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี AUM อยู่ที่ 99,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับความไว้วางใจให้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บมจ.ท่าอากาศยานไทย
ส่วนกองทุนส่วนบุคคลอยู่ที่ 71,468 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 55.3%, กองทุนรวมลดลงเล็กน้อยประมาณ 0.4% จากภาวะความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) อัตราการเติบโตใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.8% , กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มขึ้น 3.4% สูงกว่าอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 2.5%, กองทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น 22.2% ในขณะที่อุตสาหกรรมติดลบ 4.3%