นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.กรุงไทย (KTAM) กล่าวว่า บริษัทมองแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ในปี 62 ที่ 1,800 จุด บนสมติฐาน P/E ที่ 15 เท่า และคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ 8%
ภาพการลงทุนในปีนี้ยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่องจากปีก่อนตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยผ่านปริมาณการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจากข้อจำกัดในการใช้มาตรการด้านการคลังและมาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจหลังจากประกาศใช้ไปค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) อาจต้องเผชิญต่อปัญหาของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอังกฤษที่ตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอิตาลีมีปัญหาระดับหนี้สาธารณะ นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาการชะลอตัวในเชิงโครงสร้าง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือผลลัพธ์ของการเลือกตั้งทั่วไปว่าไทยจะได้รัฐบาลที่มีเอกภาพเพียงพอที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบต่อนโยบายการบริหารเศรษฐกิจประเทศ
ดังนั้น นโยบายการลงทุนของ บลจ.กรุงไทยในปีนี้จะเน้นการคัดสรรหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวน้อยที่สุด รวมทั้งเลือกหลักทรัพย์รายตัวที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของวงจรการลงทุนภายในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และหลักทรัพย์กลุ่มที่ได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเลือกตั้ง
"ถ้าดูสภาพตลาดปัจจุบันนักลงทุนค่อนข้างมีความกังวลในการลงทุนในหุ้น จะเห็นได้จากราคาหุ้นในปัจจุบันก็มีการสะท้อนความกังวลดังกล่าวไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันราคาหุ้นปัจจุบันก็มี Valuation มี P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีอัตราเงินปันผลที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยที่น่ากังวลอยู่บ้างแต่ระดับราคาหุ้นในปัจจุบันนี้ก็มี Downside risk ค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การทยอยเข้าลงทุนในระดับปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี คาดว่าจะดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นๆในระยะยาว"นายวีระ กล่าว
นายวีระ กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนปี 62 จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีรายได้และการเติบโตในประเทศ (Domestic Play) หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ได้รับประโยชน์จากมาตรการและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มพาณิชย์
นอกจากนี้ การจัดพอร์ตหุ้นในปี 62 ยังคงเน้นการกระจายการลงทุนไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย คัดเลือกหุ้นรายตัวที่ราคามีการปรับตัวลงมาต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีความคาดหวังการเติบโตที่สูงซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้สำหรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศปี 62 มีแนวโน้มขยับตัวขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกแต่ความถี่ของการขยับขึ้นลดลงตามชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อและความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงจะถูกกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมถึงความไม่แน่นอนอื่นจากปัจจัยต่างประเทศ
ขณะที่ผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยโลก อย่างไรก็ตามมองว่าอัตราผลตอบแทนในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าตราสารหนี้ในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกภายใต้แรงกดดันจากความเสี่ยงสำคัญทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงกดดันหลักจากทิศทางของราคาน้ำมัน ซึ่งริษัทฯ คาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้, ปัจจัยด้านการใช้นโยบายการเงินคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งไทยและสหรัฐแม้จะเป็นช่วงขาขึ้นแต่ความถี่ในการขยับขึ้นคงมีไม่มาก มีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศ และปัจจัยทางด้านนโยบายการคลังในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนของภาครัฐซึ่งจะนำไปสู่การระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ภายในประเทศมีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินในระบบแต่ยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนภาครัฐหลังการได้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเป็นหลักในปี 62
ส่วนทิศทาง Fund Flow ในปีนี้จะเริ่มเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยบ้าง โดยจะเห็นได้ตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปีนี้เป็นต้นไป หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะมีการชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินไหลกลับเข้ามายังตลาดเกิดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต ซึ่งมองว่าไทยอาจจะไม่ใช่ประเทศแรกที่นักลงทุนสนใจลงทุน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศอยู่ โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูการเลือกตั้ง ในส่วนของนโยบายต่าง ๆ ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วมีทิศทางการดำเนินงานชัดเจน ก็น่าจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากจากไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ
พร้อมกันนี้ ประเมินทิศทางค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หรืออาจอยู่ในระดับใกล้เคียงสิ้นปี 61 โดยคาดค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ และระหว่างปีก็มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าแตะ 31 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากไทยยังคงเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดจากมูลค่าการส่งออกและรายได้การท่องเที่ยว
ด้านนายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 น่าจะมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ระดับ 3.8% ชะลอลงจากปี 61 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.2% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในโครงการ EEC ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งแรงกระตุ้นจากปัจจัยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและผลของการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ยังต้องติดตามว่าภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาจะเป็นแรงผลักดันในเรื่องของความเชื่อมั่นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่
ด้านการส่งออกคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง จากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ระดับ 3.7% ทรงตัวในระดับเดียวกับปี 61 แต่อาจมีความเสี่ยงที่การเติบโตอาจต่ำกว่านั้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงเล็กน้อยหลังจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน รวมทั้งปัญหาสงครามการค้ากับจีนที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ขณะที่กลุ่ม EU ยังคงถูกกดดันจากปัญหาการเมืองเป็นสำคัญ ทั้งในเรื่อง Brexit หรือโอกาสที่อาจจะมีประเทศอื่นตัดสินใจแยกตัวออกจาก EU ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจไทยยังถูกกระทบจากปริมาณการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.6% เนื่องจากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้นทำได้ไม่ง่าย โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเพียง 1 ครั้งในช่วงสิ้นปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2.0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.75%
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงต้นปีนี้ คือ ผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ถ้าตกลงกันไม่ได้และมีการขึ้นกำแพงภาษีก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบร้ายแรง, การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ประเด็นการเมืองในยุโรป ข้อสรุปของอังกฤษว่าตกลงจะออกจาก EU หรือไม่ ส่วนไทย คือเรื่องท่องเที่ยวและผู้นำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เนื่องจากมีผลต่อนโยบายในอนาคตซึ่งมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก