ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร "การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค" ที่ "AAA" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 21, 2019 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ระดับ "AAA" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟภ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดส่งและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศไทย รวมถึงการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านโครงสร้างค่าไฟฟ้า และกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีลูกค้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงนโยบายทางการเงินที่รอบคอบและฐานะการเงินที่เข้มแข็งของ กฟภ. รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

บทบาทที่สำคัญในการจัดส่งและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ

กฟภ. เป็นรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 2 รายที่รับผิดชอบในการจัดส่งและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย โดย กฟภ. มีความรับผิดชอบในเขตพื้นที่ภูมิภาคซึ่งครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับผิดชอบในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี

ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model -- ESB) ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นรัฐวิสาหกิจหลักที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้าให้ทั้งประเทศโดยนำมาขายส่งให้แก่ กฟภ. และ กฟน. เพื่อขายปลีกให้กับประชาชนต่อไป โดยที่ กฟภ. นั้นซื้อไฟฟ้าส่วนใหญ่จาก กฟผ. และจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ

ไฟฟ้าที่ กฟภ. จำหน่ายในปี 2561 มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 71% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทย โดย ณ เดือนมีนาคม 2561 กฟภ. มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น 19.4 ล้านราย ในขณะที่ในปี 2560 นั้น กฟภ. มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าทั้งสิ้น 448,270 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวมาจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ประมาณ 40% มาจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนประมาณ 25% และมาจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางอีกประมาณ 29%

มีโครงข่ายการจำหน่ายไฟฟ้าที่กว้างขวางทั่วประเทศ

ภายใต้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 (พ.ร.บ. กฟภ.) กฟภ. มีอำนาจในการเดินสายส่งไฟฟ้าและสายจำหน่ายไฟฟ้าไปเหนือพื้นที่หรือใต้พื้นที่ใดใดได้โดยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้แก่เจ้าของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งนี้ พ.ร.บ. กฟภ. แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของ กฟภ. ในการจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ณ เดือนมีนาคม 2561 กฟภ. เป็นเจ้าของและดำเนินงานโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยความยาวทั้งสิ้น 777,013 วงจร-กิโลเมตรซึ่งเชื่อมต่อกับผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวน 19.4 ล้านรายทั่วประเทศ โดยโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้านี้เข้าถึงหมู่บ้านจำนวนทั้งสิ้น 74,304 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศ นอกจากนี้ กฟภ. ยังเป็นเจ้าของและดำเนินงานโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าด้วยความยาวทั้งสิ้น 12,501 วงจร-กิโลเมตรซึ่งเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ด้วยเช่นกัน

เงินลงทุนได้รับการชดเชยผ่านค่าไฟฟ้า

การกำหนดค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการนี้ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าและการจำหน่ายไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศได้อย่างมั่นคง กกพ. จึงได้กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าโดยให้ครอบคลุมเงินลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าของทั้งประเทศรวมทั้งให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพียงพอสำหรับรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งคือ กฟผ. กฟภ. และ กฟน.

กำไรที่คาดการณ์ได้ที่ระดับประมาณ 0.5 บาทต่อหน่วยไฟฟ้าที่จำหน่าย

กฟภ. มีความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในระดับที่จำกัด ทั้งนี้ ภายใต้โครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันนั้น การเปลี่ยนแปลงใดใดของต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าภายใต้ค่าปรับปรุงเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) โดย กกพ. เป็นผู้กำหนดและประกาศค่า Ft ในทุก 4 เดือน ซึ่งในช่วงปี 2556-2560 กฟภ. มีกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายและซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟภ. อยู่ในระดับ 0.55-0.57 บาทต่อหน่วย

ผู้ใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มในการผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น

จากแนวทางของร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (Proposed Power Development Plan -- PDP2018) ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง และ/หรือขายตรง ให้ลูกค้า (Independent Power Supply -- IPS) นั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 จาก 3,800 เมกะวัตต์ในปี 2560 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะมีพฤติกรรมที่ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนและการผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยในแผน PDP2018 นั้นคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมต่างก็มีทางเลือกในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ด้วยตนเองเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบดังกล่าวลดลงอย่างมาก ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มดังกล่าวจะกระทบต่อความต้องการไฟฟ้าที่จำหน่ายโดย กฟภ. ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็ยังคงคาดว่า กฟภ. จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าหลักของประเทศต่อไป

มีแผนพัฒนาธุรกิจใหม่

เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานสู่ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation) กฟภ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขยายขอบเขตธุรกิจที่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลักในการซื้อและจำหน่ายไฟฟ้า โดยธุรกิจใหม่ ๆ ของ กฟภ. ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การให้บริการซ่อมบำรุงแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า และการเปลี่ยนสถานะไปสู่ผู้ให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจร ทั้งนี้ กฟภ. มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคดิจิทัล (Digitalized Utility Provider) ภายในปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้ กฟภ. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยตรวจหาปัญหาได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการโครงข่ายไฟฟ้าเมืองอัจฉริยะในอนาคตอันใกล้ด้วย ปัจจุบัน กฟภ. มีโครงการนำร่องในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็กมาก (Smart micro-grid Project) จำนวน 2 แห่งที่จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยจะมีการขยายผลโครงการนำร่องนี้ไปในเมืองใหญ่ในอนาคตอันใกล้

มีนโยบายการเงินที่รอบคอบ

กฟภ. มีนโยบายทางการเงินที่รัดกุมรอบคอบโดยมีนโยบายภายในในการสะสมเงินสำหรับการชำระคืนหนี้ล่วงหน้า 3 ปีก่อนที่จะครบกำหนด นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีนโยบายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ที่ไม่เกิน 1.5 เท่า อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-financial Raito) ที่ไม่ต่ำกว่า 25.0% และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าอีกด้วย

มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

กฟภ. มีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 กฟภ. มีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจำนวน 65,773 ล้านบาทและมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่เข้มแข็งที่ระดับ 27.86%

นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีสภาพคล่องที่ดีอีกด้วย โดย ณ เดือนมิถุนายน 2561 กฟภ. มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวม 27,646 ล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000-42,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงานของ กฟภ. นั้นมีเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2562 ที่จำนวนประมาณ 7,800 ล้านบาท ในปี 2563 ที่จำนวนประมาณ 5,200 ล้านบาท และในปี 2564 ที่จำนวนประมาณ 5,200 ล้านบาท

ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่

กฟภ. ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ. กฟภ. ระบุว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ กฟภ. ในกรณีที่รายได้ของ กฟภ. ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายซึ่งรวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยและการชำระคืนเงินกู้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real Gross Domestic Product -- Real GDP) จะอยู่ที่ประมาณ 4.0% ในปี 2562 และจะอยู่ที่อัตราเฉลี่ยปีละ 3.0% ในช่วงปี 2563-2564

ทริสเรทติ้งคาดว่า กฟภ. จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วงประมาณ 45,000-47,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

กฟภ. จะมีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 124,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564 โดยส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในการขยายระบบจำหน่ายเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงเพื่อปรับปรุงความมั่นคงน่าเชื่อถือของระบบ และเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของ กฟภ. คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 40% ตลอดช่วงประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า กฟภ. จะยังคงดำรงบทบาทที่สำคัญในการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ในต่างจังหวัดของประเทศและจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐจนส่งผลให้สถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญของ กฟภ. รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ