นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมนำรถสามล้อไฟฟ้าต้นแบบไปแสดงและยื่นข้อเสนอให้กับสหกรณ์ใน จ.เชียงใหม่ อย่างน้อย 2 แห่งพิจารณาคัดเลือกภายในเดือนนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับทีมงานฝ่ายการตลาดเพื่อสรุปตัวเลขราคาที่สามารถแข่งขันได้ คาดว่าจะอยู่ในช่วงคันละ 3-4 แสนบาท รวมถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ ภายใต้เป้าหมายเบื้องต้นที่จะผลิตให้ได้วันละ 1 คัน ใช้ไลน์การผลิตสินค้าให้กับคูโบต้ามาปรับใช้เป็นหลักคาดว่าจะลงทุนอีกไม่มาก
นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสที่จะทำตลาดรถยนต์สี่ล้อไฟฟ้าที่นำไปใช้งานในหลากหลายประเภท แต่ไม่ต้องจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานภายในหมู่บ้าน รีสอร์ต สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ หรือภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยอาจจะเปิดให้พันธมิตรจากจีนเข้ามาร่วมทุน เนื่องจากต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากจีน เช่น แบตเตอรี่ เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้
บริษัทยังเตรียมขยายไลน์สินค้าเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำเร็จรูปที่ทำจากเหล็กไปจำหน่ายในสหรัฐ ทั้งที่ใช้ในระดับครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เช่น ตู้และชั้นวางที่ผลิตจากเหล็ก เตาอบ เป็นต้น โดยช่วงที่ผ่านมาได้เจรจาเบื้องต้นกับคอสโก้ ซึ่งเป็นโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ในสหรัฐไปแล้ว จึงเตรียมลงทุนตั้งไลน์การผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5-6 ล้านบาทในการปรับปรุงเครื่องจักรที่มีอยู่มาใช้ในไลน์การผลิตดังกล่าว
สำหรับแผนการลงทุนขยายธุรกิจในเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่น คาดว่าจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือเบื้องต้น (MOU) ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ บริษัทจะเปิดโอกาสให้พันธมิตรไทยที่สนใจอีก 4 รายเข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยบริษัทจะถือหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มที่เป็นส่วนของผู้ประกอบการไทย คาดว่าจะสร้างโรงงานผลิตท่อสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กในนิคมอุตสาหกรรมติละวาในปีนี้และเริ่มผลิตในปี 63 ซึ่งบริษัทจะใช้เงินทุนจากเงินสดในมือและเงินกู้จากสถาบันการเงินของไทย
"เราไม่รีบร้อน กว่าจะเริ่มผลิตในปีหน้า ทำให้เรายังมีเวลาดูสถานการณ์ให้ชัดเจนเพื่อวางแผนให้ดีอีกที เพราะตอนนี้อสังหาริมทรัพย์ในเมียนมาเริ่มมีปัญหาจากราคาที่ดินแพงมาก แต่อุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ยังไปได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค หรือที่เกี่ยวข้องกับของกินของใช้ "นายธีรวัต กล่าว
ขณะที่การร่วมทุนกลุ่ม NITTO KOGYO ยู่ระหว่างการออกแบบโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 62 และการร่วมทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีสินค้าเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
สำหรับผลประกอบการงวดปี 62 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% แตะ 1,234 ล้านบาท จากปี 61 ที่มั่นใจว่าจะทำรายได้ราวต้น ๆ 1 พันล้านบาท เติบโตได้เกือบ 20% จากปี 60 ที่มีรายได้ราว 846 ล้านบาท โดยปีที่ผ่านมาผลงานอาจจะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายจากการร่วมทุน และต้องเผชิญกับการแข่งขันด้วยสงครามราคา แม้ว่าต้นปีจะยังมีการแข่งขันค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มราคาวัตถุดิบเหล็กปรับตัวลดลงไปบ้างแล้ว จึงน่าจะทำให้บริษัทมีสถานการณ์ดีขึ้น
นอกจากนั้น จากผลกระทบสงครามการค้าทำให้ผู้นำเข้าสินค้าอุปกรณ์ที่ผลิตจากเหล็กในสหรัฐหลายรายหันมาหาโรงงานผลิตในประเทศอื่น ๆ ทดแทนโรงงานในจีนที่อาจถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งโรงงานในไทยก็มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย ขณะที่บริษัทเองก็ผลิตสินค้าป้อนให้กับสหรัฐอยู่แล้ว เข่น ตู้สื่อสาร เป็นต้น จึงมองว่าน่าจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่รับรู้รายได้ภายในปีนี้