นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ ธนาคารธนชาต (TBANK) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าการดำเนินงานในปี 62 กำไรจะเติบโตราว 6-7% ภายใต้การผลักดันสินเชื่อรวมให้เติบโตราว 7% เน้นขยายกลุ่มลูกค้ารายย่อย พร้อมควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไว้ไม่เกิน 2.3% เท่ากับปีก่อน
กลยุทธ์การขยายสินเชื่อของธนาคารยังคงเน้นการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายย่อยให้เติบโตขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนระหว่างกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่ออื่น ๆ ในปีนี้อยู่ที่ 80:20 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 70:30 โดยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยที่ไม่รวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตั้งเป้าหมายเติบโตอยู่ที่ 7% โดยธนาคารจะพยายามขยายฐานลูกค้าเข้าไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีตั้งเป้าเติบโต 4-5% และในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักของธนาคารตั้งเป้าเติบโต 10% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีอยู่ 4.2 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 61
สำหรับกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้สูงที่สุด เพราะธนาคารยังมองว่ามีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ตามแนวโน้มของยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังคงมีความต้องการใช้สินเชื่อรถยนต์ที่สูง พร้อมกับการรักษาความเป็นที่ 1 ของส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ส่วนผลกระทบของการควบคุมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้นเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Banking) ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมของธปท.
อย่างไรก็ตาม การที่ยังคงตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารยังคงมีความต้องการระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ซึ่งตั้งเป้าขยายเงินฝากออมทรัพย์ในปี 62 เพิ่มขึ้น 10% โดยที่จำนวนเงินฝากรวมทุกประเภทของธนาคารในปัจจุบันที่ทั้งหมดกว่า 7 แสนล้านบาท การขยาย CASA ที่เพิ่มขึ้นมากในปีนี้ ส่งผลให้ในสิ้นปี 62 สัดส่วน CASA จะเพิ่มเป็น 50% จากปีก่อนที่ 48%
ขณะเดียวกันการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารนั้นยังคงเดินหน้าการควบคุมหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ทำให้มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น โดยปีนี้ธนาคารวางเป้าหมายควบคุม NPL ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน หรือพยายามควบคุมให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2.3% โดยที่ธนาคารจะบริหารหนี้เสียเอง และขายหนี้เสียของธนาคารออกไปบางส่วน เพื่อการบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่คาดว่าการตั้งสำรองฯในปีนี้ จะมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลบวกต่อแนวโน้มกำไรสุทธิในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากรากฐานความสำเร็จ ทำให้ในปี 62 กำหนดกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจไว้อย่างชัดเจน 4 ประการ ได้แก่ การปรับผังผู้บริหารและตั้งหน่วยงานใหม่ ให้สอดรับกับแผนธุรกิจและ Customer Journey เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน Focus กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น เช่น ตั้งหน่วยงาน Enterprise Digital Banking เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปและวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัลให้เหมาะสม และจะมีการนำโมเดลการบริหารธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบบริหารธุรกิจด้านอื่น ๆ อีกทั้งแต่ละธุรกิจจะมีทีมบริหารที่ดูแลงานขายและงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
กลยุทธ์ข้อต่อมา คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) ซึ่งจะเป็นการนำข้อมูลมาขับเคลื่อนธุรกิจทุกทิศทางและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม กลยุทธ์ข้อที่ 3 การลดกระบวนการทำงานต่าง ๆ (Agility) เปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติเพื่อให้บริการได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยที่ผ่านมาธนชาตได้พัฒนาระบบ Automotive Lending Digital Experience (ALDX) ให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้นซึ่งประสบความสำเร็จ ลูกค้า ให้การตอบรับเป็นอย่างดี
และกลยุทธ์ประการที่ 4 การเพิ่มความรู้ทักษะพนักงาน ให้มีความรู้ลึก และรอบด้านในการให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ลูกค้า (Advisor) อย่างตรงจุดและสม่ำเสมอ
ส่วนแนวทางการควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย (TMB) นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาของผู้ถือหุ้น ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่มีกรอบระยะเวลาที่จะสรุปอย่างชัดเจน
"ดีลควบรวมกับ TMB ผู้ถือหุ้นของธนชาตได้ศึกษาอยู่ ณ วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าออกมา และยังไม่มีข้อสรุป ส่วนกรอบระยะเวลาก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะชัดเจนเมื่อไหร่ ซึ่งในส่วนของผมและทีมผู้บริหารทุกคนมีหน้าที่ที่สำคัญ คือ การเดินหน้าทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งหลักที่จะต้องทำ"นายประพันธ์ กล่าว