น.ส.นิตา ตรีวีรานุวัฒน์ กรรมการบริหาร บมจ.ซี เอ แซด (ประเทศไทย) หรือ CAZ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตเฉลี่ย 30-40% ใกล้เคียงกับในช่วงอดีตที่ผ่านมา จากมีงานในมือ (backlog) ณ ไตรมาสที่ 3/61 ราว 2.8 พันล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้และสิ้นสุดในช่วงไตรมาสที่ 1/62
ปัจจุบันบริษัทมีแผนเตรียมเข้าประมูลงานจำนวน 2 โครงการ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนอย่างน้อย 1 โครงการในปีนี้ โดยยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้ ซึ่งงานโครงการดังกล่าวจะมาจากกลุ่มลูกค้าเดิม ประกอบกับบริษัทมีโอกาสได้รับงานใหม่อีกมาก เนื่องจากลูกค้ากว่า 90% เป็นกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ที่มีแผนการลงทุนระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้า
น.ส.นิตา กล่าวถึงการที่ราคาเปิดของหุ้น CAZ ที่ทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันนี้ที่ปรับตัวลดลง 7.69% จากราคา IPO ที่ 3.90 บาทต่อหุ้นว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ครอบครัวและตนได้มีการเข้าซื้อหุ้น CAZ และไม่ได้ขายออก และมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต และบริษัทคาดว่าจะมีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิในปีนี้ตามนโยบายของบริษัท
ด้านนายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจด้านตลาดทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ไม่มีความกังวลต่อราคาหุ้นต่ำจองจากปริมาณการซื้อขายยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับยังเชื่อมั่นในพื้นฐานของธุรกิจ ซึ่งเห็นได้จากปัจจุบันมีงานในมือจำนวนมากเมื่อเทียบกับรายได้ในอดีตที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ายังมีการเติบโตได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังมีคู่แข่งในอุตสาหกรรมจำนวนไม่มาก
ขณะเดียวกันบริษัท CAZ มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและแก๊ส ซึ่งมีแผนการขยายการลงทุนไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตของบริษัทได้อีกอย่างน้อย 3 ปี อย่างไรก็ดี ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นทำให้ปรับตัวลดลงมา
ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นในวันทำการเปิดการซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคา IPO นั้นมองว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกระยะสั้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวน อย่างไรก็ตามมองว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น
โดยยังมองว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังมีธุรกิจใหม่ ๆ ที่สนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ธุรกิจกีฬา (บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด, บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด, บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด) ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย