ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (18 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจสหรัฐกระเตื้องขึ้นมาได้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 59.91 จุด หรือ 0.49% แตะระดับ 12,099.30 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 8.06 จุด หรือ 0.60% แตะระดับ 1,325.19 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดรูดลง 6.88 จุด หรือ 0.29% แตะที่ 2,340.02 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 5.84 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1
บรรยากาศการซื้อในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนตลอดทั้งวัน โดยดัชนีหลักดิ่งร่วงลงสู่แดนลบทันทีที่บุชประกาศมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีมูลค่า 1.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐให้รอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอย
คิม คอเฮย์ นักวิเคราะห์จากฟอร์ต พิตต์ แคปิตอล กรุ๊ป ในพิทท์สเบิร์กกล่าวว่า "นักลงทุนรู้สึกผิดวังต่อตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จนส่งผลให้ไม่อยากส่งคำสั่งซื้อขายจำนวนมากเข้ามาในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งผมคิดว่า นักลงทุนสถาบันอาจเล็งเห็นถึงข้อจำกัดด้านความสามารถของรัฐบาลสหรัฐในการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดิ่งลงหลังจากที่บุชประกาศแผนช่วยเหลือด้านภาษียังเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า บรรยากาศการซื้อขายในตลาดยังถูกปกคลุมด้วยความไม่มั่นใจของนักลงทุนที่พากันเทขายหุ้นจนทำให้ดัชนีดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักกับการส่งสัญญาณในเชิงบวกเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะป็นการที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศว่า ทางธนาคารพร้อมที่จะใช้นโยบายเชิงรุกในการปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นจำนวนมากช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อ
นายปีเตอร์ คาร์ดิโล นักวิเคราะห์จากอวาลอน พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า "นักลงทุนคาดหวังว่าเฟดจะจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดดอกเบี้ย ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 29-30 ม.ค.นี้ เนื่องจากตลาดได้ส่งสัญญาณให้เฟดเห็นว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง"
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนช่วงกลางเดือนม.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้ต่อนักลงทุนเล็กน้อย แต่ปฏิกิริยาดังกล่าวก็ยังไม่สามารถช่วยพยุงให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นได้ ทั้งนี้ แม้ดัชนีจะไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ที่ดีต่อตลาดหุ้นนิวยอร์กว่านักลงทุนจะเริ่มคลายความตื่นตระหนกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในอนาคต
หุ้นเอ็มบีไอเอปิดร่วงลง 7% หลังจากที่ดิ่งลงหนักเมื่อวานนี้ ขณะที่หุ้นซีเคียวริตี้ แคปิตอล อัซซัวแรนซ์ ปิดทรุดตัวลง 9.3%
หุ้นไอบีเอ็มปิดบวก 2.3% จากการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล โทร.0-2253-5050 อีเมล์: orasa@infoquest.co.th--