นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ZEN ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน (IPO) ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งแล้ว และคาดว่าจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในไตรมาส 1/62
ปัจจุบัน ZEN ผู้ให้บริการร้านอาหาร มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 225 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ ดังนี้ (1) ขยายธุรกิจ ได้แก่ การขยายและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร (2) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และ (3) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ทั้งนี้ หากสำนักงาน ก.ล.ต.อนุมัติให้เสนอขายหุ้น IPO และแบบไฟลิ่งมีผลใช้บังคับ จะกำหนดวันที่เสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะนำ ZEN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในไตรมาส 1/62
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN กล่าวว่า บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะอยู่ 3,600 ล้านบาท เติบโต 20% จากราว 3,000 ล้านบาทในปีก่อน ซึ่งรายได้สาขาเดิมคาดว่าจะเติบโตราว 4-5% ขณะเดียวกันบริษัทได้เตรียมงบลงทุนราว 200 ล้านบาท เพื่อขยายสาขา 123 สาขา แบ่งเป็นร้านทื่เป็นเจ้าของเอง 36 สาขา และ แฟรนไชส์ 87 สาขา รวมถึงการปรับปรุงสาขาเดิม เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ปรับขึ้นแตะ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (ปี 62-66) หรือภายในปี 66
บริษัทจะใช้กลยุทธ์ขยายสาขาต่อเนื่องในแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยจะเน้นการขยายแฟรนไชส์ และตลาดเดลิเวอรี่ ให้มากขึ้น ซึ่งจะหนุนมาร์จิ้นดีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายมีอัตรากำไรสุทธิขึ้นสู่ระดับ 10% ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 อยู่ที่ 4.9%
"เรายังคงมุ่งมั่นที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับตลาด IPO ที่ไม่ดีนัก แต่ด้วยผลประกอบการที่มีทิศทางการเติบโตที่ดี บริษัทมีความเข้มแข็ง มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเราไม่ได้มองในระยะสั้น แต่มองระยะยาวคือเราเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน 4 ซึ่งมีความทนทานต่อสถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆได้"นายบุญยง กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมีจุดเด่นด้านการเป็นผู้ให้บริการร้านอาหาร (Food Services) อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ได้มีเพียงธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายได้อย่างครอบคลุมในทุกระดับ เช่น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery Business) และ ธุรกิจอาหารค้าปลีก (Retail Business) เป็นต้น
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเตรียมความพร้อมด้านระบบบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งการเพิ่มบุคลากรลงทุนด้านระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมในการขยายธุรกิจ โดยสามารถใช้ฐานฝ่ายงานสนับสนุนที่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อรองรับการเติบโตได้อย่างเต็มที่
บริษัทประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบัน สามารถแบ่งธุรกิจหลักเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธุรกิจร้านอาหาร (2) ธุรกิจแฟรนไชส์ และ (3) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และบริการจัดเลี้ยง (Catering) ธุรกิจให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Management) และบริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) และธุรกิจอาหารค้าปลีก (Retail Business) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากการจำหน่ายในร้านอาหารมาต่อยอดเพื่อวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีร้านอาหารภายใต้การดำเนินงานรวม 12 แบรนด์ แบ่งเป็น กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ได้แก่ (1) ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Authentic Japanese Food) (2) Musha by ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่ (3) Sushi Cyu Carnival Yakiniku ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม (4) AKA ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น (Yakiniku) (5) Testu ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม และ (6) On the Table Tokyo Cafe ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์
กลุ่มร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ ได้แก่ (1) ตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน (2) ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม (3) แจ่วฮ้อน ร้านอาหารประเภทสุกี้ลาวหรือจิ้มจุ่ม (4) เฝอ ร้านก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม (5) de Tummour ร้านอาหารไทย-อีสานแบบพรีเมี่ยม และ (6) เขียง (Khiang by tummour) ร้านอาหารไทยตามสั่งหรือ Street Food แบรนด์ใหม่ที่นำเสนออาหารไทยจานเดียวยอดนิยมเพื่อเข้าถึงลูกค้าทั่วไป เช่น ข้าวผัดกระเพราหมูสับ ฯลฯ ล่าสุด ร้านเขียงได้เปิดสาขาแรกในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเจษฎาบดินทร์ จังหวัดนนทบุรี
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.61 บริษัทมีร้านอาหารภายใต้แบรนด์ของตนทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นร้านอาหารที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 145 สาขา
"บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้นำของประเทศในธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสและกำหนดวิสัยทัศน์องค์กรก้าวเป็นผู้นำธุรกิจอาหารที่ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2562 วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัทฯ 36 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 87 สาขา และในปี 2563 วางแผนงานขยายร้านอาหารของกลุ่มบริษัท 50 สาขา และขยายสาขาแฟรนไชส์ 175 สาขา"นายบุญยง กล่าว
นางยุพาพรรณ เอกสิทธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินและบัญชี ZEN กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 มีรายได้รวม 2,226.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,826.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 108.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 49.2 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจแฟรนไชส์