นายสุวิชา พานิชผล กรรมการ บริษัท โกลด์ชอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บมจ. บางกอกเดค-คอน (BKD) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจประปาที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ตำบลไม้ขาว และตำบลสาคู อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจประปา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการทำธุรกิจประปาในจังหวัดทางภาคใต้ และมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมทั่วทั้งภาคใต้ในอนาคต
โดยบริษัทฯ มีแผนจะขยายธุรกิจน้ำประปาโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากในหลายจังหวัดมีการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งขณะนี้บริษัทฯได้ศึกษาการทำธุรกิจการทำน้ำประปาในบางจังหวัดที่มีความต้องการสูงกว่ากำลังลังลิตรราว 1 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน ใกล้เคียงกับจภูเก็ต รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว อย่าง หัวหิน ด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตน้ำประปารายใหญ่ในภาคใต้ กำลังการผลิต 5 แสนลบ.ม./วันภายใน 3 ปี โดยเงินส่วนใหญ่ที่จากการระดมทุนจะใช้ในการขยายธุรกิจเป็นหลัก
นายสุวิชา กล่าวถึงโครงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพื่อจังหวัดภูเก็ต-พังงาว่า คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนใน 7 ปี โครงการทั้งหมดจะมี 4-5 เฟส ซึ่งในปีแรกของเฟสแรกที่มีกำลังการผลิตราว 24,000-25,000 ลบ.ม./วัน คาดว่าจะมีรายได้ 120-130 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ยังมองการขยายโครงการไปทั่วเกาะภูเก็ต จากโครงการแรกที่ได้สัมปทาน 30 ปี ในพื้นที่ตำบลไม้ขาว และตำบลสาคู อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต โดยขณะนี้ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อน้ำประปาไปกระจายให้บริการประชาชนในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากปัจจุบัน กปภ.มีการผลิตรวมถึงการซื้อน้ำประปาจากผู้ผลิตเอกชนรวมกันได้เพียง 90,000 ลบ.ม./วัน ทำให้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ในขณะที่เกาะภูเก็ตมีเป้าหมายในการเป็น Smart City และมีการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในแต่ละปีค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังต้องใช้เวลาในการศึกษาการขยายบริการในเกาะภูเก็ตอีกระยะ เพราะต้องมีการลทุนเพิ่มในการวางท่อประปาในแนวเส้นทางคนละเส้นทางกับกปภ. โดยอาจจะใช้แนวเส้นทางเลียบชายหาด นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนจะลงทุนโซลาฟาร์มลอยน้ำเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ขนาดราว 4 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา คาดใช้เงินไม่เกิน 120-130 ล้านบาท