น.ส.สุณี เสรีภาณุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แม็คกรุ๊ป (MC) เปิดเผยว่า ในปี 62 หรือเป็นช่วงครึ่งปีหลังของงบการเงินปี 61/62 (1 ก.ค. 61-30 มิ.ย.62) บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ของบริษัทที่หันมาเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตราสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนำโดยแบรนด์ ‘Mc Jeans’ เครื่องแต่งกาย Denim และ Non-denim และแบรนด์ ‘U-P’ (ยู-พี) เสื้อผ้าสไตล์ Sport casual กลุ่ม Fashion Accessories โดยมีทั้งแบรนด์ Mc, U-P และแบรนด์นาฬิกาต่างๆของ ‘Timedeco’ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ Personal care โดยแบรนด์ ‘M&C’ ซึ่งจะใช้เป็นกลยุทธ์หลักที่เข้ามาทดแทนการทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าที่บริษัทได้ชะลอไป
แผนสินค้าใหม่ที่เป็นไฮไลท์ในปีนี้นำทัพโดยแบรนด์ ‘Mc Jeans’ ซึ่งนำเสนอสินค้ายีนส์ เซลเวจ (Selvedge) มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการผลิตจากผ้าทอหน้าแคบที่มีการควบคุมคุณภาพสูงกว่าผ้าทอทั่วไป และครั้งหนึ่งผลิตได้จำนวนไม่มากและมีการเย็บริมขอบผ้าด้วยด้ายสี เพื่อให้ผ้ามีความทนทานคงคุณภาพยาวนานผสานกับความ พรีเมียมของเนื้อผ้า ทำให้ยีนส์เซลเวจหรือริมสีเป็นสัญลักษณ์ของความพรีเมียมในวงการยีนส์ ซึ่งในตลาดโลกจัดจำหน่ายอยู่ในราคามากกว่า 3,000 บาท
ในขณะที่บริษัทจะเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอยีนส์เซลเวจในราคาที่จับต้องได้ให้กับคนไทยในระดับราคาประมาณ 2,000 บาท ภายใต้คอลเลคชั่น ‘Mc Selvedge’ ด้วยเนื้อผ้ายีนส์เซลเวจที่ใส่สบาย รูปทรงได้รับการดีไซน์ให้มีความเหมาะสมกับสรีระของคนเอเซีย ใส่แล้วสวยและเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความโดดเด่นด้านดีไซน์ด้วยการปักคำว่า Mc Jeans Selvedge Series (แม็คยีนส์ เซลเวจ ซีรี่ส์) ที่กระเป๋าลับใส่เหรียญซึ่งมีเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้น ซึ่งแต่ละโมเดลในซีรีส์นี้ได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตลอดปี 62 และจะเป็นยีนส์อีกรุ่นจาก Mc ที่ผู้ชื่นชอบยีนส์ต้องมี นอกจากนี้แบรนด์น้องใหม่ ‘U-P’(ยู-พี) ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตกับหลากหลายกิจกรรม เตรียมปล่อยคอลเลคชั่นใหม่แนว Monochrome และ Pastel เหมาะกับผู้ที่ชอบแต่งตัว Sport casual ที่คุมโทนแบบสีเดียวทั้งลุค หรือคนที่ชอบโทนสีพาสเทลที่ดูสดใส สบายตา โดยคอลเลคชั่นใหม่ๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น บริษัทได้วางเป้าการขายไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท
ด้านนายบัณฑิต ประดิษฐ์สุขถาวร ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและบัญชีและผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ MC กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของงบการเงินของบริษัทปี 61-62 หรือในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 61 จะเห็นว่ายอดขายของบริษัทหดตัวลง 8% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการทำโปรกางเกงยีนส์ เพื่อชะลอการเร่งตัวของยอดขายไม่ให้สูงมากเกินไป ชะลอการซื้อสินค้าล่วงหน้าของลูกค้าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เพราะหากบริษัทกระตุ้นยอดขายมากเกินไปจะทำให้ยอดขายของบริษัทปรับตัวลดลงในอนาคต เพราะลูกค้าได้ซื้อสินค้าล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทในอนาคตได้ ทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะปรับกลยุทธ์ไม่เนินการเติบโตของยอดขายมาก แต่จะไปเน้นที่การสร้างมูลค่าของสินค้า เพื่อทำให้กำไรของบริษัทยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องได้
กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าสินค้าของบริษัท ที่จะเป็นการขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นดีในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61/62 มากขึ้น จะส่งผลบวกต่ออัตรากำไรขั้นต้นให้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 57% จากปกติที่อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ 50% แม้ว่ายอดขายจะไม่เติบโตมากเหมือนกับในอดีต แต่ยังเห็นการเติบโตของมาร์จิ้นที่ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามในงบการเงินปี 61/62 ของบริษัทยังมีแรงกดดันจากการปรับมารตฐานบัญชีใหม่ (TFRS15) เกี่ยวกับรายได้ที่ทำสัญญากับลูกค้า ที่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 62 ทำให้จะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรสุทธิของบริษัทเล็กน้อย คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 15% จากปี 60 ที่ 17-18% ซึ่งบริษัทเป็นบริษัทแรกที่ใช้มาตรฐานบัญชีใหม่แล้ว
ส่วนกลยุทธ์ Omni channel ที่เป็นการเชื่อมต่อทุกช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น แม็คกรุ๊ปได้เปิดจุดขายเพิ่มกว่า 30 จุดจากปีที่แล้วที่มีอยู่ 894 จุดมาอยู่ที่ 927 จุดและคาดว่าจะถึง 1,000 จุดภายใน 2 ปีข้างหน้า และได้ลงทุนเปิดจุดขายเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านร้านค้า ‘mcmc Outlet Store’ ที่มีการเพิ่มจุดจำหน่ายภายในและภายนอกปั๊มน้ำมันปตท. ตลอดจนการพัฒนาช่องทาง Online marketplace คือ ‘mcshop.com’ โดยเพิ่มการสรรหาสินค้าภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับโลกของพันธมิตรรายอื่นๆที่เป็นที่นิยมของคนไทยเข้ามานำเสนอต่อฐานลูกค้าหลายล้านคนของแม็คกรุ๊ป ซึ่งล่าสุดบริษัทฯได้เข้าลงทุนใน ‘Mcmillion’ ซึ่งเป็นผู้บริหารคลังสินค้าและการจัดส่งสินค้าแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจ E-commerce เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและลดระยะเวลาการจัดส่งสินค้าสำหรับลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้สั้นที่สุด
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายป๊อปอัพสโตร์ใน Global House เพิ่มขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของงบการเงินงวดปี 61/62 ซึ่งจะมีการเปิดเพิ่มอีกในจังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมา หลังจากที่ปลายปี 61 เปิดไป 3 แห่ง ได้แก่ เวียงกุมกาม ฝ่าง และแม่ฮ่องสอน ซึ่งการขยายสาขาของบริษัทไปในร้าน Global House และปั้มน้ำมัน PTT เพื่อที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าในกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในช่วง 800-1,200 บาท/คน/บิล เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่กลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,400-1,800 บาท/คน/บิล ขณะที่การขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมนอกเหนือจากในลาวและเมียนมาร์ บริษัทกำลังจะเดินทางไปเจรจากับพันธมิตรมาเลเซียในเดือนม.ค.นี้ เพื่อศึกษาโอกาสการขยายสาขาในมาเลเซียในห้างใหญ่แห่งหนึ่ง และยังคงมองหาโอกาสการขยายไปสู่ตลาดในโซนตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศอยู่ที่ 1%
ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มฐานสมาชิก MC Club ซึ่งในขณะนี้มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 650,000 คนและคาดว่าจะถึง 1 ล้านคนภายในหนึ่งปี โดยในไตรมาสนี้จะเริ่มนำ Mobile Application เข้ามาใช้งานเพื่อให้สามารถสื่อสารและนำเสนอแคมเปญที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างต่อเนื่องตลอดจนเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้บริษัทยังสร้างการ engagement ผ่านการ Micro และ Nano influencers หลากหลายไลฟ์สไตล์ โดยมีการจัดทำเวิรค์ช้อปเพื่อแลกเปลี่ยนทักษะการถ่ายทอดเรื่องราวไลฟ์สไตล์ต่างๆไปสู่กลุ่มลูกค้าผ่านสื่อดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งเพิ่มงบการตลาดกว่า 20 ล้านบาท เพื่อมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ของแบรนด์และการขยายฐานลูกค้าใหม่สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มจากค่าใช้จ่ายงบประมาณการตลาดที่ทำผ่านจุดจำหน่ายต่างๆในรูปแบบ Gift with Purchase กิจกรรมร่วมสนุกและส่วนลดพิเศษ รวมกว่า 200 ล้านบาท/ปี
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ บริษัทเตรียมเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัท เพื่ออธิบายเกี่ยวกับความคืบหน้าของบริษัทและอธิบายเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้มีความมั่นใจมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 17-18%