SCBS ลดเป้า SET index ปี 62 เหลือราว 1,700-1,800 จุดจากเดิม 2,000 จุด คาดขึ้นสูงสุดใน Q3/62 หลังเลือกตั้ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 29, 2019 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทปรับลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปี 62 เหลือราว 1,700-1,800 จุด จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2,000 จุด หลังเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะเติบโตชะลอตัวลงและอาจมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ทั้งนี้คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ระดับ 3.8% จากการส่งออกมีการเติบโตลดลงเหลือ 3-5% จากเดิมคาด 8%

ทั้งนี้ มองว่าดัชนีจะปรับตัวลงต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 1/62 จากมีการรับรู้ปัจจัยกังวล อาทิ การเลือกตั้ง, สงครามการค้า, นโยบายดอกเบี้ยสหรัฐ, การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) คาดว่าตลาดจะรับรู้ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับปัจจัยดังกล่าวในช่วงไตรมาสที่ 3/62 ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและทำให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวสู่ระดับสูงที่สุดของปี

ส่วนผลประกอบการที่วัดจาก EPS Growth ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 62 คาดว่าจะเติบโตลดลงเหลือ 4-5% จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 8% เนื่องจากกลุ่มพลังงานได้รับผลกระทบด้านราคาน้ำมันจากปัจจัยการเมืองในสหรัฐฯ คูเวต และ รัสเซีย โดยประเมินราคาน้ำมันดิบในปีนี้ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV และทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนสูงขึ้นด้วย

"ปีนี้หุ้นตกลงมามีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปีก่อน การเลือกตั้งทำให้มี sentiment ที่ดี ต้องติดตามผลการเลือกตั้ง จากปัจจัยพื้นฐานไม่นับการเมือง หุ้นไทยตอนนี้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หากตัดหุ้นน้ำมันออกไป หุ้นอื่นผลประกอบการก็ไม่มีความผันผวนมาก คาดว่าปีนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนหุ้นไทยและหุ้นตลาดเกิดใหม่ ส่วนต่างประเทศต้องเลือกลงทุน หลังตลาดสหรัฐปรับฐาน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี" นายสุกิจ กล่าว

นายสุกิจ กล่าวอีกว่า ในทางตรงกันข้ามหากปัจจัยกังวลข้างต้นได้ข้อสรุปไม่เป็นตามตลาดคาด และราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อาจทำให้กระแสเงินทุนไหลออกจากหุ้นไทย อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีรองรับ คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงมาที่ระดับราว 1,500-1,550 จุด อย่างไรก็ดี แนะนำนักลงทุนซื้อหุ้นปันผลดีและอิงกับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดแรงกระแทกของตลาดเมื่อปรับตัวลงแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ