(เพิ่มเติม) KKP ตั้งเป้าปี 62 สินเชื่อโต 8% เน้นกลุ่มให้ผลกำไรดี จากปี 61 โตแกร่งราว 18.5% หันคุมเข้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 30, 2019 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ในปี 61 ที่ผ่านมาสินเชื่อเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 18.5% และในปี 62 นี้ด้วยนโยบายเน้นขยายเฉพาะสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มยอดสินเชื่อโดยทั่วไป จึงได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 8%

แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ชะลอตัวจากปีก่อน เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น ไม่เร่งปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากความเสี่ยงของภาพรวมอุตสาหกรรม และการเน้นขยายฐานไปในกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น โดยปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวม 2.28 แสนล้านบาท และในปี 62 ตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตเพิ่มขึ้นอีกราว 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่การขยายกลุ่มสินเชื่อที่ให้อัตรากำไรสูงให้มากขึ้น หลังจากในปีที่ผ่านมาส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารปรับตัวลดลงเหลือ 5% จากปี 60 ที่ 5.2% พร้อมทั้งพยายามขยายสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อมาทดแทนในส่วนของสินเชื่อรายย่อยบางประเภทที่มีโอกาสชะลอตัว เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ได้รับแรงกดดันจากการควบคุมเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ (LTV) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 62

ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการขยายตัวมากในปีก่อนนั้น ปีนี้น่าจะชะลอตัวลงหลังจากขยายตัวไปมากแล้ว ธนาคารก็จะระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น หลังจากมีกรณีซับดาวน์เกิดขึ้นในการขายรถยนต์ใหม่ที่ไม่ได้เป็นการแสดงมูลค่าที่แท้จริงของรถยนต์ที่ถูกต้อง และทำให้เกิดความเสี่ยงในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งหากธนาคารไม่ระมัดระวังก็อาจส่งผลต่อคุณภาพหนี้ให้แย่ลง และการขายรถยนต์ที่ยึดมายังอาจสร้างผลขาดทุนให้กับธนาคาร

นายอภินันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารจะต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ แม้จะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่มองว่ายังมีความเสี่ยงจากสัญญาณคุณภาพหนี้ที่แย่ลง อีกทั้งมีโอกาสที่ ธปท.อาจจะเข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้ หากภาวะตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงร้อนแรงและมีการแข่งขันที่สูง ทำให้แนวโน้มของสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารในปีนี้จะลดลงเหลือ 45% จากปีก่อนที่ 47%

ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (Commercial Loan) ธนาคารจะขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้ารายกลางและรายเล็กมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง และทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้าหลากหลายขึ้น แม้ว่าในปี 62 แนวโน้มของภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดการชะลอตัวลงบ้าง แต่ยังมีความต้องการใช้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนไม่มากเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่

ด้านสินเชื่อลูกค้าบรรษัทขนาดใหญ่ ในปีนี้ยังคงต้องดูทิศทางการลงทุนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้ธนาคารยังมีอีกหลายดีลที่ช่วยลูกค้าบรรษัทขนาดใหญ่ทำอยู่ แม้ว่าการขยายตัวของสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ในปีก่อนจะสูงถึง 50% แต่เป็นแรงกดดันที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทำให้ NIM ลดลง ซึ่งธนาคารจะต้องหาการบริการอื่นๆมาเสนอให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้เพื่อสร้างรายได้เสริมเข้ามา เช่น การเป็นนายหน้ารับประกันการออกหุ้นกู้ และการเป็นที่ปรึกษาทางเงินเป็นต้น

"หน้าที่ของผมก็จะต้องพยายามผลักดันกำไรของกลุ่มให้เพิ่มขึ้นตลอด แต่ปีนี้ความเสี่ยงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจค่อนข้างเยอะ ทำให้การทำงานต้องระมัดระวังมากขึ้น การรักษามาร์จิ้นไม่ให้ลดลงก็ค่อยข้างยาก แต่เราก็จะพยายามขยายไปที่กลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และมีบริการต่างๆที่เพิ่มเข้ามาเสริมให้ลูกค้า แต่ถ้าปีนี้กลุ่มลูกค้า Big Corporate มีความต้องการใช้สินเชื่อมาก ก็มีโอกาสกดดันมาร์จิ้นให้ต่ำลงอีกได้มาที่ 4.5-4.7% เพราะกลุ่มลูกค้านี้เป็นกลุ่ม Low risk Low margin"นายอภินันนท์ กล่าว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ธนาคารจะพยายามควบคุมให้ลดลงต่ำกว่า 4% จากสิ้นปีก่อนที่ 4.1% โดยการที่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และยังคงมีแผนการขายหนี้ออกไปเพื่อควบคุมระดับ NPL ขณะที่การตั้งสำรองฯในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ตั้งไว้ 1.25 พันล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคารและเป็นการป้องกันความเสี่ยง และทำให้อัตราส่วนการตั้งสำรองฯต่อหนี้สูญ (Coverage ratio) ไม่ต่ำกว่า 114.8% ซึ่งเป็นระดับในสิ้นปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ