บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี คาดการณ์กำไรปี 62 อาจถูกกระทบจากการตั้งสำรองราว 2 พันล้านบาทซึ่งเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ กรณีชดเชยกรณีเลิกจ้างและเกษียณอายุ ขณะที่ตลาดเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าหลักของเอสซีจีก็ยังมีความผันผวนตามความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่ายอดขายในปีนี้น่าจะเติบโตเพียงประมาณ 5% จากปีก่อน ด้วยแผนการใช้อัตรากำลังการผลิตที่ดีขึ้นและการหาตลาดใหม่ ๆ ทดแทน ตลอดจนการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้ดีขึ้น ก็จะช่วยประคองผลประกอบได้ พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ 6 หมื่นล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่ 3 หมื่นล้านบาทจะใช้ในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ เวียดนาม นอกจากนั้นเป็นโครงการขยายกำลังการผลิต โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพ และโครงการซ่อมบำรุงต่างๆ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การที่ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีการปรับอัตราค่าชดเชยกรณีการเลิกจ้างและเกษียณอายุจากเดิม 300 วันเป็น 400 วันนั้น จะทำให้เอสซีจีต้องตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี 2 พันล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จะทำให้กระทบต่อผลกำไรทางบัญชีของเอสซีจี ขณะที่ความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจโลกก็จะกระทบต่อตลาดสินค้าเคมีภัณฑ์ในตลาดโลก แต่ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ยังมีทิศทางที่ดี
"เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับเราก็ต้อง book ทันทีเลย เป็นกฎหมายทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่เป็น cash ทั้งหมด คิดว่าทุกคนเกษียณอายุตามนี้หมดก็จะประมาณนี้ แต่ถึงตอนเกษียณอายุจริงก็ว่ากันตามตัวคนก็ว่ากันไป อีกสิ่งหนึ่งความไม่แน่นอนมีค่อนข้างสูงมาก เอสซีจีมีหลายสินค้าอยู่ในตลาดโลก ก็มีผลกระทบแน่นอนจากเรื่องความไม่แน่นอนตรงนี้ ทั้งต้นทุนราคาน้ำมัน ต้นทุนพลังงาน และความต้องการสินค้าที่จะมีผลกระทบจากสงครามทางการค้า สิ่งที่พยายามจะทำเราเรื่องส่งออกเราจะหาตลาดใหม่ ๆ ให้เยอะขึ้น และทำตัวให้เบา เรื่อง working cap ต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น และการนำนวัตกรรมมาใช้ตอบโจทย์ลูกค้า"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้คาดว่ายอดขายจะเติบโตราว 5% จากระดับ 4.78 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ว่าภาพตลาดสินค้าหลักอย่างเคมีภัณฑ์ยังมีความไม่แน่นอน และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เอสซีจีก็จะหันมาบริหารจัดการเรื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นของทั้ง 3 ธุรกิจ คือ ซีเมนต์ ,บรรจุภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ โดยในส่วนของธุรกิจซีเมนต์
ในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ0tเติบโต 3-5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่เติบโต 3% หลังสัญญาณความต้องการใช้ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ตามการลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐ และคาดว่าน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ขณะที่ตลาดซีเมนต์ในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตราว 5-10%
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ยังมีทิศทางที่ดีเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ที่คาดไว้ 4% ในปีนี้จะผลักดันให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขยายตัวได้สูงกว่านั้น ส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ยังมีทิศทางไม่ชัดเจน ขึ้นกับราคาน้ำมันและความต้องการของตลาดที่ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามสงครามการค้าว่าจะสิ้นสุดอย่างไร ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ทำให้บริษัทต้องพยายามผลักดันไปสู่ตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในภูมิภาค , จีน ,อินเดีย ก็เริ่มเห็นทิศทางที่เป็นไปได้ รวมถึงการพยายามขายสินค้าที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย
ทั้งนี้ เอสซีจีจะเน้น 2 กลยุทธ์หลักในปีนี้ คือ กลยุทธ์การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของเอสซีจีในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 9% ของยอดขาย ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผลประกอบของอุตสาหกรรมในภาพรวม และกลยุทธ์การบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มูลค่าเพิ่ม ก็จะมีการส่งมอบโซลูชั่นเพื่อตอบสนองลูกค้าได้อย่างเบ็ดเสร็จด้วย
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เอสซีจีจะยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนขนาดใหญ่ต่อไป หลังจากได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤต (stresstest) สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งในส่วนของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม และโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ในไทย พบว่าทุกโครงการยังมีศักยภาพ จึงต้องมาบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ตามแผนภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้
โดยในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.58 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งจะเป็นการลงทุนในปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม 3 หมื่นล้านบาท ,การลงทุนขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ในไทย ตลอดจนการลงทุนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์ ,การลงทุนงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงสตาร์ทอัพ 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ เงินลงทุนจะมาจากเงินกู้และกระแสเงินสดที่มีอยู่ โดยปัจจุบันเงินสดราว 5.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอสซีจี มีแผนจะออกหุ้นกู้ในเร็ว ๆ นี้ อีก 1.5 หมื่นล้านบาท อายุ 4 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดในเดือนเม.ย.นี้ โดยเอสซีจียังมีศักยภาพในการกู้เพราะมี net debt to EBITDA อยูที่ระดับ 1.7 เท่า และมีเป้าหมายไม่เกิน 2.5 เท่า
สำหรับเงินลงทุนดังกล่าวไม่นับรวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่เอสซีจียังคงมองหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง ขณะที่เคมีภัณฑ์จะให้ความสำคัญในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนามเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในส่วนแผนการขายธุรกิจในกลุ่มที่ไม่แข็งแรงนั้น ก็ยังมีการพิจารณาอย่างต่อเนื่องด้วย
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย คาดว่าเอสซีจีจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ในช่วงต้นปี 63 หลังสถานการณ์ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยสงครามการค้า ทำให้พันธมิตรทางอินโดนีเซียอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด จากปัจจุบันที่เอสซีจี ร่วมลงทุน 30% กับพันธมิตรอินโดนีเซีย ในโครงการแรก ในนามของ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP)