นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) กล่าวมั่นใจว่า ในปีนี้บริษัทจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ จากปีก่อนที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ แต่จะอยู่ในระดับลดลงจากปี 60 ที่ขาดทุนสุทธิ 947.96 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตมาที่ 2 หมื่นล้านบาทเติบโต 30-40%จากปีก่อน ซึ่งปีนี้จะเป็นปีแห่งการพลิกฟื้นธุรกิจองค์กร
โดยในส่วนของบมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) คาดว่าปีนี้จะพลิกฟื้นธุรกิจได้ดีหลังจากปรับโครงสร้างและขยายโอกาสสู่ธุรกิจใหม่ ๆ และตั้งเป้ารายได้ที่ 4 พันล้านบาท และตั้งเป้าให้บริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล ปีนี้ที่ 1 แสน Subscribers โดยเจาะกลุ่มลูกค้าส่วนภาครัฐเป็นหลัก เช่น กระทรวงมหาดไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, อาสาสมัครป้องกันภัย เป็นต้น จากปัจจุบันที่มีการวางโครงข่ายฯ ดังกล่าวไปแล้วกว่า 60-70%
ขณะที่บมจ.สามารถ เทเลคอม (SAMTEL) ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท และมีงานในมือ (Backlog) กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรับรู้ในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะรับรู้รายได้ในปีถัด ๆ ไป จากการเซ็นสัญญาโครงการต่าง ๆ มากถึง 118 โครงการ เช่น โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกว่า 7 พันล้านบาท โครงการของกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6 พันล้านบาท และโครงการของบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กว่า 1.5 พันล้านบาท เป็นต้น ล่าสุดประเดิมด้วยการได้งานโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศธุรกิจหลักหรือ Core Business Process System ให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) มูลค่า 579 ล้านบาท
อีกทั้งอยู่ระหว่างเตรียมยื่นประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก คิดเป็นมูลค่ารวมราว 2 หมื่นล้านบาท คาดหวังได้งานประมาณ 50% เนื่องด้วยบางงานเป็นงานเก่าที่บริษัทได้ดำเนินการอยู่แล้วและมีการต่อสัญญาต่อเนื่อง
ด้านบมจ. วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) เติบโตต่อเนื่อง ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้านบาท โดยยังเน้นลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก ส่วนภาคเอกชนมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธนาคารและกลุ่มธุรกิจประกัน โดยวาง 2 แนวรุกเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจคือ New Service มุ่งพัฒนาสินค้าและบริการด้านธุรกิจคอลล์เซ็นเตอร์ที่เป็น digital services อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การให้บริการ Voice AI, การนำ Chatbot มาให้บริการสอบถามข้อมูลผ่านช่องทาง Line Connect, facebook และ website ที่ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า New Market โดยการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ LINE Cormpany (Thailand) Limited ในโครงการ LINE Customer Connect ในการเป็นผู้ดำเนินการงานด้านระบบบริการลูกค้า รวมถึงเป็น Strategic Partner กับบริษัท HANKOOK Corporation ผู้นำในธุรกิจ Contact Center ครบวงจรในประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารงานการพัฒนาเทคโนโลยีและจับมือกันน้ำเสนอบริการใหม่เข้าสู่ตลาด
พร้อมกันนี้ OTO ยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจ Cloud contact center คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3/62
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการนำบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานในด้านโครงสร้างทางการเงินของที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าจะสามารถนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนได้ภายในปี 63 โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ 270 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้บริการควบคุมระบบจราจร และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง เป็นหนึ่งในสายธุรกิจ U-Trans โดย สามารถ ทรานโซลูชั่น มีสัดส่วนการถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) มีทุนจดทะเบียนที่ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิทยุการบินในประเทศกัมพูชา
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทได้สัญญาให้บริการวิทยุการบินในประเทศกัมพูชา ซึ่งยังเหลืออายุสัมปทานอีก 21 ปี นอกจากนี้บริษัท เทด้า จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจทำสายส่ง substation เตรียมที่จะเข้าประมูลงาน มูลค่ารวม 2.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งานโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท, การไฟฟ้านครหลวง 1.3 หมื่นล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังที่จะได้งานประมาณ 15-20%
"เราค่อนข้างมั่นใจในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากธุรกิจเทลคอมที่เติบโต และธุรกิจ U-Trans ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมถึง OTO มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยใช้ดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับสามารถดิจิตอล จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้ภาพรวมของกลุ่มกลับมามีกำไรสุทธิได้"นายวัฒน์ชัยกล่าว