บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) แถลงความร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT)เพื่อพัฒนาคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซไปสู่เทคโนโลยีระบบ 3G ซึ่งจะมีการทดลองบริการเป็นครั้งแรกในกลางสัปดาห์นี้ที่สถานีฐาน จ.มหาสารคาม โดย DTAC คาดว่าจะทำให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายขยายตัวได้เร็วขึ้น และน่าจะได้รับอนุญาตจากทางการในการเปิดบริการระบบ 3G อย่างเป็นทางการภายใน 1 ปีนับจากที่ได้มีข้อตกลงแผนธุรกิจร่วมกับ กสท.แล้วเสร็จ
ขณะที่ กสท.ระบุว่าพร้อมเปิดรับพันธมิตรกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายที่อยู่ภายใต้สัมปทานของ กสท. ทั้ง ทรูมูฟ และ ฮัทช์
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า การพัฒนาคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ต คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท โดยจะสามารถรองรับอินเตอร์เน็ตไร้สายที่ปัจจุบันในไทยมีอัตราการใช้เพียง 24-25% ของประชากรทั้งหมด
ทั้งนี้ การพัฒนาคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เพราะเป็นคลื่นความถี่เดิม และการเปิดทดสอบสัญญาณให้สาธารณะรับรู้ก็ถือว่าเป็นการกระทำโปร่งใส เชื่อว่ากทช.ก็พร้อมสนับสนุน และขณะนี้ในต่างประเทศก็มีเครื่องลูกข่ายและอุปกรณ์ต่างๆรองรับสำหรับคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ต
"เห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่มีจับกลุ่มแข่งขันกัน โดยทีโอทีก็จับมือกับเอไอเอส ส่วน DTAC ก็มาร่วมกับ CAT และทุกคนก็พยายามก็จะพูดถึงเรื่องอนาคต" นายซิคเว่กล่าว
*กสท.ขอเป็นพันธมิตรทุกราย ใช้ SINGTEL เป็นต้นแบบ
นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. กล่าวว่า กสท.จะเข้าร่วมทุนในธุรกิจหลัง DTAC ทดสอบคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตไปสู่เทคโนโลยีระบบ 3G แต่จะเข้าร่วมทุนสัดส่วนเท่าไรขึ้นอยู่กับการเจรจา ซึ่งพยายามจะเจรจาจบให้เร็วภายใน 3-6 เดือน แต่คงใช้เวลาเพื่อขออนุมัติจากครม. เพราะเป็นการร่วมทุนเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมการงานภาครัฐและเอกชน
การเข้าร่วมทุนดังกล่าวเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ แม้ว่า DTAC จะยังมีอายุสัญญาสัมปทานเหลืออยู่ประมาณ 10 ปี แต่กสท.ไม่รอให้หมดเสียก่อน เนื่องจากต้องการสร้างพันธมิตรธุรกิจต่อเนื่องหลังหมดอายุสัมปทาน ซึ่งนอกเหนือจาก DTAC กสท.ก็ต้องการเปิดรับพันธมิตรทั้งจากทรูมูฟ และ ฮัทช์ ซึ่งทั้งหมดปัจจุบันเป็นบริษัทร่วมการงานกับกสท.
"เราตั้งเป้า 5 ปี (51-55)เราจะโตแบบ SINGTEL คือเราเห็นว่าเขาเข้าไปถือบริษัทหลายแห่ง จริงๆยอดขายไม่ได้โตมาก CAT เองก็จะต่อยอดคล้ายๆอย่างนั้น" นายพิศาลกล่าว
นอกจากนี้ กสท. ก็ต้องการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะคลื่นความถี่ และ แผนธุรกิจของกสท.ก็ไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีใดเทคโนโบยีหนึ่ง ทั้งนี้ ซีดีเอ็มเอ ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกระบบภายใต้การบริหารของ กสท.
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--