นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมั่นใจผลการดำเนินงานในงวดปี 61/62 (1 เม.ย. 61-31 มี.ค. 62) จะสามารถพลิกมีกำไรได้ แม้ว่าช่วง 9 เดือนแรกจะยังมีผลขาดทุนกว่า 70 ล้านบาท โดยที่ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการบันทึกค่าใช้พิเศษจากกรณีเตาหลอมระเบิดที่มีการบึนทึกในช่วงไตรมาส 3 ปี 61/62 จำนวน 125 ล้านบาท
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของงวดปี 61/62 จะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษดังกล่าว ส่งผลให้แรงกดดันผลการดำเนินงานน้อยลง แต่อาจจะมีการบันทึกการตั้งสำรองราว 60 ล้านบาทหากกฏหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการเงินชดเชยให้กับพนักงานกรณีเกษียณอายุมีผลบังคับใช้ทันภายใน 30 มี.ค.62 แต่หากบังคับใช้ไม่ทันบริษัทก็จะไปบันทึกในงวดปี 62/63 แทน
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์การขายด้วยการผลักดันการส่งออกเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ภาวะความต้องการใช้เหล็กในประเทศเกิดการชะลอตัว เนื่องจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ยังไม่มากนัก ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการใช้เหล็กที่เติบโตขึ้น ทำให้บริษัทหันไปเน้นการส่งออกมากขึ้นในประเทศกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และอินเดีย คาดว่าสัดส่วนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 11-12% ของยอดขายรวม จากเดิมอยู่ที่ 7-10%
นายราจีฟ กล่าวว่า การปรับแผนกลยุทธ์ไปที่การส่งออกมากขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปริมาณการขายเหล็กในงวดปี 61/62 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.21-1.25 ล้านตัน แม้ว่าช่วง 9 เดือนแรกของงวดปี 61/62 จะมีปริมาณขายเหล็กเพียง 849,500 ตัน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีอัตราการใช้กำลังผลิตที่ 70-75% หรือมีปริมาณการผลิต 1.1-1.2 ล้านตัน/ปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 1.7 ล้านตัน/ปี
ด้านแนวโน้มราคาเหล็กในช่วงไตรมาส 4 ปี 61/62 บริษัทมองว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และทิศทางราคาจะไม่ผันผวนมากเท่ากับช่วงไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งมองว่าการที่ราคาเหล็กมีเสถียรภาพมากขึ้นจะส่งผลให้ผู้ใช้เหล็กมีความต้องการสั่งซื้อเหล็กเพื่อนำมาสต็อกไว้อีกครั้ง หลังจากไตรมาส 3 ปี 61/62 ชะลอการสั่งซื้อไป ส่วนการแข่งขันของธุรกิจเหล็กมองว่าต้องรอจับตาหลังผ่านเทศกาลตรุษจีนไปว่าเหล็กจากประเทศจีนจะมีทิศทางเป็นอย่างไร จากที่ผ่านมาการส่งออกเหล็กจากจีนยังคงที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เวียดนามและมาเลเซียมีการเสนอราคาเหล็กแท่งและเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่เข้ามาแข่งขัน ทำให้ปัจจุบันมีการสั่งซื้อเหล็กจากทั้ง 2 ประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก
และหลังการเลือกตั้งต้องติดตามเสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจสั่งซื้อเหล็กของลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายในประเทศที่ปัจจุบันยังเฝ้าจับตาสถานการณ์ ทำให้การสั่งซื้อเหล็กของลูกค้าในประเทศเกิดการชะลอตัว
นายราจีฟ ยังกล่าวถึงการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ T S Global Holdings Pte. Ltd. (TSGH) ที่ถือหุ้นอยู่ 67.90% ทำสัญญาขายหุ้นให้กับ Hebsteel Global Holding Pte. Ltd. ที่เป็นบริษัทย่อยของ HBIS Group Co., Ltd. (HBIS) ในราคา 0.79 บาท/หุ้น สูงกว่าราคาบนกระดานเพื่อขายให้แก่บริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ในประเทศสิงคโปร์โดยนิติบุคคล ซึ่ง HBIS และ TSGH ร่วมทุนกันในสัดส่วน 70:30 จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนในการปิดดีลในครั้งนี้ พร้อมสรุปแผนกลยุทธ์การดำเนินงานและปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่ให้แล้วเสร็จ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการเข้าทำธุรกรรมและการจัดตั้งผู้บริหารของบริษัทร่วมทุนที่จะมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) จะมาจากกลุ่ม HBIS ของจีน และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน มาจากกลุ่มทาทาสตีล
การที่กลุ่ม HBIS จากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของจีน ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในบริษัท เพราะ HBIS มีความต้องการขยายฐานการผลิตและขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจาก HBIS ได้เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานมานี้ และเล็งเห็นความต้องการใช้เหล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูงเฉลี่ย 80 ล้านตัน/ปี และมีการเติบโตของความต้องการใช้เฉลี่ย 5-6% ต่อปี ซึ่งเป็นโอกาสของ HBIS ที่จะเข้ามารุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้
ส่วนกลุ่มทาทาสดึล จะกลับไปเน้นในประเทศอินเดียแทน ซึ่งมีความต้องการใช้เหล็กสูงมาก เพราะอินเดียมีการลงทุนเกี่ยวการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และมีประชากรเป็นจำนวนมากถึง 1.3 พันล้านคน ทำให้มีความต้องการใช้เหล็กสูงจากปัจจุบันที่ 100 ล้านตัน/ปี ก็คาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 ตัน/ปีในอีก 12-15 ปีข้างหน้า