นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคร่วมกับบมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) และบมจ.ทีโอที ในการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการเปิดศูนย์ 5G IoT & AI Innovation Center เพื่อทำการทดสอบ 5G ด้วยรูปแบบการใช้งานจริงต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำบริการ 5G ขับเคลื่อนประเทศไทย โดยศูนย์แห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจร่วมทดสอบและพัฒนาสู่ความพร้อมของการทำงานดิจิทัล
สำหรับในช่วงทดสอบ 5G ดีแทคได้วางแผนเบื้องต้น ที่จะมีแนวทางทดสอบกรณีการใช้งาน (Use Cases) กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคาดว่ามีรูปแบบการใช้งาน (Use cases) ในกลุ่มฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building Solutions) บรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Access) การวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Measurement) บริการสื่อขั้นสูง (Advanced media services) โดรนเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Drones) สมาร์ทเฮลธ์แคร์(Smart Healthcare) อุตสาหกรรมอัจฉริยะ(Smart Industry) สมาร์ทซิตี้แอปพลิเคชัน (Smart City Application)
ที่ผ่านมา ดีแทคได้จัดทำโซลูชัน "ฟาร์มแม่นยำ" ซึ่งถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยี Internet of Things เพื่อการทำเกษตรที่มีความแม่นยำที่ดีแทคได้พัฒนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสุ่ 5G สามารถปลดล็อกมูลค่ามหาศาลให้แก่เกษตรกรของประเทศไทยได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการทำเกษตรกรรมยุคใหม่จะต้องใช้ประโยชน์ของดิจิทัลและความสามารถของ 5G มาต่อยอดเพื่อทำรายได้เพิ่มมากขึ้น
"เรามุ่งมั่นอย่างไม่หยุดเพื่อวางรากฐานสำหรับโครงข่ายสู่อนาคตในประเทศไทย อาทิ ดีแทคเป็นรายแรกที่การนำเทคโนโลยีโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network: VCN) มาดำเนินงาน และนำอุปกรณ์รับส่งสัญญาณแบบ Massive MIMO 64x64 ที่ทันสมัยที่สุดในโลกมาให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นรายแรกในไทย การนำประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G จะต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านสู่ 3G หรือ การมาของ 4G ดังนั้น ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะต้องวางแผนขยายโครงข่ายตอบโจทย์ในการรองรับอุตสาหกรรมและรูปแบบการใช้งาน นี่คือความสำคัญสำหรับเราในการมุ่งสู่การทดสอบเทคโนโลยีเพื่อค้นหาการใช้งานด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนสู่กลยุทธ์ 5G ของไทย"นางอเล็กซานดรา กล่าว
ทั้งนี้ ดีแทคมีเทคโนโลยีการสื่อสาร ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ที่พร้อมจะนำคนไทยสู่ความยั่งยืนของยุค 5G ดีแทคมีจุดยืนและให้ความสำคัญที่จะทำให้ 5G เกิดขึ้นในไทย คือ
1. แนวทางการกำกับดูแล (Regulation) กฎระเบียบต่างๆ ต้องเอื้อให้ 5G สามารถเกิดได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการที่ซับซ้อนและระยะเวลาในการขออนุญาต เป็นปัจจัยในการจำกัดความสามารถในการเร่งขยายสัญญาณในประเทศไทย และควรมีแนวทางในการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สูงสุด เช่น การคำนึงถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน และมีความสะดวกในการปฏิบัติ
2. แผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ต้องกำหนดว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใด เมื่อไร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแผนและการนำคลื่นย่านความถี่ต่างๆ ที่ชัดเจนมาใช้งาน เพราะการจะให้บริการ 5Gได้นั้นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ ผู้ให้บริการจึงไม่สามารถวางแผนการใช้งานที่ชัดเจนรวมถึงประสิทธิภาพการวางแผนลงทุน
3. สร้างความร่วมมือ (Enhanced collaboration) จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ผู้ให้บริการและผู้บริโภค ในการสร้างระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็งและยั่งยืน และช่วยกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นตลอดเวลา