นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าภาพรวมผลประกอบการปี 62 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 61 เพราะจะมีการเปิดประมูลงานหลายโครงการใหม่ทั้งงานตู้สวิตช์บอร์ด และงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมทั้ง บริษัทจะรับรู้รายได้เต็มปีโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารโทรคมนาคมในเมียนมา กำลังการผลิตเสาอยู่ที่ 7,500 ตันต่อปี และชุบสังกะสีที่ 2.4 หมื่นตันต่อปีเริ่มเดินเครื่องอย่างเป็นทางการแล้ว
ทั้งนี้ ในปี 62 รายได้จากธุรกิจในประเทศจะมีสัดส่วนราว 80-85% ขณะที่รายได้จากต่างประเทศราว 15-20% ของรายได้รวม โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคม ยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ
ล่าสุด บริษัทได้รับอนุมัติจากกรรมการบริหารให้ร่วมลงทุนกับ บริษัท โกลด์ อีลิท ปารีส (ประเทศไทย) จำกัด โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ซึ่ง SCI จะลงทุน 49% คิดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจ ค้าและบริการให้เช่าโทรศัพท์มือถือ คาดว่าการจัดตั้งบริษัทและการลงทุนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/62
สำหรับการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทประเมินว่าควรจะหาช่องทางใหม่ๆในการสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจเดิมในประเทศนั้นเริ่มจะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น และจะถึงจุดอิ่มตัวได้ในอนาคต ดังนั้น บริษัทได้มีการพยายามหาช่องทางใหม่ๆในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหาสินค้าหรือบริการหรือธุรกิจที่แปลกใหม่
"ธุรกิจให้เช่ามือถือในครั้งนี้ นั้นเริ่มจากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับทางพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในวงการมือถือมาค่อนข้างนานพอสมควรและบริษัทฯเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจและยังใหม่ และ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการลองทำสิ่งใหม่ๆ เราคาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทในอนาคต ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น หากเป็นไปตามแผนก็ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ" นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับแผนการขยายการลงทุนปีนี้จะเน้นการขยายธุรกิจในเมียนมาเป็นหลัก หลังจากโรงงานในเมียนมาได้เริ่มเดินเครื่องผลิตอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 61 นอกจากนี้ทางบริษัทคาดว่าการลงทุนผ่านบริษัท ทียูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง SCI และ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) โดย SCI ถือหุ้น 45% เพื่อลงทุนในพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภคต่างๆ จะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีโครงการที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว 4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยติดตั้งในปีนี้