โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หลังแนวโน้มผลประกอบการปี 62 มีโอกาสฟื้นตัว จากหมดภาระค่าใช้จ่ายพิเศษให้บริษัท กสท โทรคมนาคม (CAT) เพื่อยุติกรณีพิพาท ประกอบกับหมดภาระค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทาน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการเช่าคลื่น เสา และอุปการณ์แทน รวมถึงการออกจากระบบสัมปทานมาสู่ใบอนุญาตเต็มปีก็จะส่งผลให้รายจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐลดลง
ขณะเดียวกัน DTAC มีแผนลงทุนขยายโครงข่าย 4G อย่างต่อเนื่อง ตั้งงบราว 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ช่วยขยายฐานผู้ใช้บริการรายเดือนให้มีแนวโน้มเติบโตขึ้น และเปิดโอกาสสร้างรายได้จากอัตราการใช้งานดาต้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคตด้วย
ราคาหุ้น DTAC อยู่ที่ 48.25 บาทลดลง 0.25 บาท หรือ 0.52% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.16%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทิสโก้ ซื้อ 58.00 ทรีนีตี้ ซื้อ 50.00 เคที ซีมิโก้ Outperform 46.70 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 50.00 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ ซื้อ 57.70
นักวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ผลประกอบการของ DTAC ในปี 62 มีโอกาส turnaround หลังกำไรปกติจากการดำเนินงานไตรมาส 4/61 ทำได้ราว 2.6-2.7 พันล้านบาท แต่ DTAC มีรายจ่ายพิเศษให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) เพื่อยุติกรณีพิพาทสุทธิหลังภาษีราว 7.6 พันล้านบาท ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิ
ขณะที่ปัจจุบันการให้บริการโทรศัพท์มือถือของ DTAC ได้ออกจากระบบสัมปทานมาสู่ใบอนุญาตเต็มปี ก็จะส่งผลให้รายจ่ายส่วนแบ่งรายได้บริการแก่ภาครัฐลดลงเหลือ 4% จากเดิม 9-10% นอกจากนี้ DTAC ยังหมดภาระค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้สัมปทานแล้วในปีนี้ จากเดิมมีค่าตัดจำหน่ายดังกล่าวปีละราว 1.2 หมื่นล้านบาทให้กับ CAT ซึ่งค่าเช่าสินทรัพย์ใหม่มีมูลค่าไม่สูงมาก อาทิ ค่าเช่าเสาและอุปกรณ์จาก CAT และค่าเช่าคลื่นความถี่จาก บมจ.ทีโอที (TOT)
นอกจากนี้ DTAC ยังมีการลงทุนขยายโครงข่าย 4G อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีของ DTAC ทำให้การ Download และ Upload ไม่ต้องแบ่งพื้นที่อย่างละ 50% และมีความยืดหยุ่นกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ส่งผลให้ฐานผู้ใช้บริการรายเดือนมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ขณะที่ฐานผู้ใช้บริการระบบเติมเงินมีแนวโน้มลดลง จากปัจจุบันมีการให้บริการโครงข่ายครอบคลุมไม่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน DTAC มีการต่อยอดผู้ใช้บริการรายเดือนจากความร่วมมือกับบริษัทรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถใส่ซิมการ์ดได้ ซึ่งยอดขายของรถจักรยานยนต์จะเข้ามาช่วยสนับสนุนรายได้ของ DTAC ให้มีโอกาสเติบโตได้ จากผู้ใช้บริการต้องมีการจ่ายค่าบริการรายเดือน
"ยังคงแนะนำซื้อที่เป้าหมายราคา 50 บาท บนสมมุติฐานกำไรปกติปี 62 ที่ 5,600 ล้านบาท ที่หมดภาระค่าใช้จ่ายในภาวะปกติที่ไม่มีการแข่งขันที่สูง และไม่มีการประมูลคลื่นใหม่ มีโอกาสที่เราจะปรับเพิ่มประมาณการ ซึ่ง DTAC ถือว่าเป็น 1 ใน Top pick ของเรา" นักวิเคราะห์ กล่าว
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า DTAC มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 61 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาทลดลง 6.7% จากปีก่อนโดยส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากรายได้การให้บริการที่ลดลง รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่ง 4G บนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่จ่ายให้กับ TOT และค่าใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่จ่ายให้ CAT โดย EBITDA margin ของปี 61 อยู่ที่ระดับ 37.9% สอดคล้องกับประมาณการที่คาดไว้
ขณะที่ EBIT ออกมาสูงกว่าที่คาด จาก Regulatory Cost ที่ลดลง และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ลดลง จากสัมปทานเดิม คลื่นความถี่ 900 MHZ เก่าที่หมดอายุลง แม้ว่าค่าเช่าโครงข่ายสำหรับ 2300 MHz จะเริ่มต้นขึ้น นอกจากนี้ tax credit 1.3 พันล้านบาท จากการชำระค่าพิพาทกับ CAT มีมูลค่าที่สูงกว่าคาด
สำหรับงบลงทุนในปีนี้ DTAC ตั้งไว้ที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท จะเน้นไปที่การ roll out ของ Base Station ทั่วประเทศ จำนวน 20,000 จุด ทั้งนี้ โครงข่าย 2300MHz จะรองรับ device ได้กว่า 65% ของทั้งหมด จำนวน 9.9 ล้าน device ทั้งนี้ DTAC จะไม่มีการเปลี่ยนนโยบายการจ่ายปันผล และยังพยายามที่จะใช้คลื่นที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
นอกจากนี้ DTAC ทำการตั้งสำรองของสัญญาจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาท CAT ภายใต้สัญญาสัมปทาน มูลค่า 9.51 พันล้านบาท โดยจะจ่ายทันทีหลังคณะกรรมการอนุมัติ 6.84 พันล้านบาท การเข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทกับ CAT ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับแนวทาง Anti-Trust ในวงการโทรคมนาคมเมืองไทย ซึ่งในภูมิภาคยุโรปมีกฎหมายที่เข้มงวด โดย Telenor ซึ่งบริษัทแม่ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวด้วยdkiบริหารจุดเปลี่ยนผ่านได้ค่อนข้างดี จึงคงคำแนะนำ"ซื้อ"เพื่อสะท้อนความมั่นใจว่า Telenor จะยังคงลงทุนในประเทศไทยในระยะยาวด้วยการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานระดับยุโรป
ด้านบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า DTAC ตั้งเป้างบลงทุนปีนี้ที่ 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท รวมงบลงทุนคลื่นความถี่ 900 MHz ซึ่งลดลงจากระดับ 1.95 หมื่นล้านบาทในปี 61 พร้อมวางเป้าหมายกลับไปสู่แผนการเติบโตและการขยายจำนวนผู้ใช้บริการและเพิ่มรายได้ในปีนี้อีกครั้ง โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงโครงข่าย สร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์
ทั้งนี้ การลงทุนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 MHz ในไตรมาส 4/61 ถือว่าเป็นไปในเชิงรุกอย่างมาก โดยมีสถานีฐานเพิ่มขึ้นเป็น 12,685 แห่ง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 เทียบกับ 5,931 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ย.61 และคาดว่าจะเป็นไปในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 62 ทำให้เชื่อว่าจะเห็นจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 2300 MHz เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และรายได้บริการโทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวจากการเรียกเก็บเงินบริการดาต้าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป ทำให้ประมาณการรายได้บริการโทรศัพท์มือถือเติบโต 1.5% ในปีนี้
DTAC ไม่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และจะเร่งขยายโครงข่าย 2300 MHz ให้มากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้เป็นการเปิดโอกาสสำหรับ DTAC ในการสร้างรายได้ในรูปตัวเงินจากอัตราการใช้งานของบริการดาต้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต
โดยได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 62 เพิ่มขึ้นอีก 12% มาอยู่ที่ 5.03 พันล้านบาท และปรับประมาณการกำไรหลักปี 62 เพิ่มขึ้นอีก 13% มาอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนต้นทุนด้านกฎระเบียบ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการทั่วไป ทำให้ปรับราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF เพิ่มขึ้นอีก 6% มาอยู่ที่ 55 บาท