นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมในปี 62 เติบโต 6-8% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่เติบโต 7.8%
สำหรับการเติบโตของสินเชื่อในแต่ละกลุ่มแบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย เติบโต 8-10% ประกอบด้วยสินเชื่อบ้านเติบโต 7-8% สินเชี่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโต 8-10% และสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเติบโต 7-8%
ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 62 ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 3-5% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เติบโต 6-8%
ปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อระหว่างกลุ่มลูกค้าธุรกิจและกลุ่มลูกค้ารายย่อยอยู่ที่ 52:48 ซึ่งธนาคารมีความต้องการปรับสัดส่วนทั้ง 2 กลุ่มลูกค้าให้อยู่ในระดับที่สมดุลกันที่ 50:50 โดยที่ในกลุ่มลูกค้าธุรกิจธนาคารจะไม่เร่งการปล่อยสินเชื่อมากเท่ากับช่วงที่ผ่านมา แต่จะหันไปเน้นการให้บริการและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น งานด้านวาณิชธนกิจ เป็นต้น เพื่อทำให้ธนาคารมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเติบโตของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในปัจจุบันมีการเติบโตค่อนข้างมาก หลังจากที่ธนาคารมีการรุกตลาดและเริ่มปรับใช้การระบบดิจิทัลเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย
นายโนริอากิ กล่าวว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปี 62 ในส่วนของการบริการกลุ่มลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC) ธนาคารจะต่อยอดสถานะผู้นำในตลาดลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นขนาดใหญ่ และมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ได้รับครามนิยมสูงสุดในกลุ่มลูกค้าธุรกิจระหว่างประเทศ โดยการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมไปสู่ธุรกรรมการเงินด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝาก ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน และผลิตภัณฑ์วาณิชธนกิจ พร้อมต่อยอดโดยอาศัยศักยภาพจากฐานลูกค้าธนกิจญี่ปุ่นเพื่อนำไปสู่งธุรกิจในลูกค้ากลุ่มอื่น
ส่วนกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ จะเป็นการมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการครบวงจรและเป็นธนาคารหลักของลูกค้า รวมถึงการเป็นพันธมิตรทางการเงินที่ไว้วางใจ พร้อมกับปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่ขนาดสินทรัพย์ไปสู่การให้บริการครบวงจรและธุรกิจค่าธรรมเนียม และการปรับเปลี่ยนพอร์ตของลูกค้าเพื่อมุ่งเน้นความยั่งยืนและความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่กลยุทธ์ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งเป้าหมายในการขยายสินทรัพย์โดยเน้นที่สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working capital) และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แข็งแกร่งเพื่อเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและเงินฝากต้นทุนต่ำ และผลักดันให้เป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีผ่านการปรับเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลและการเป็นสินเชื่อในกลุ่มซัพพลายเชน
ด้านกลุ่มลูกค้ารายย่อยธนาคารยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบุคคล และรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ทั้งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โดยที่จะต่อยอดจากการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลไปใช้ในส่วนของสินเชื่อบ้านที่ใช้แอพพลิเคชั่นในการช่วยส่งข้อมูลและพิจารณาสินเชื่อของลูกค้า และในส่วนลูกค้า High Networth จะยังคงยกระดับความมั่งคั่งของลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมกับนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร
ด้านการตั้งสำรองของธนาคารในปี 62 คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 1.4-1.5% และระดับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะรักษาให้ต่ำกว่า 2.5% จากปีก่อนที่ 2.08% โดยที่ธนาคารจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการลงทุนด้านไอทีในปี 62 ธนาคารตั้งงบไอทีไว้ที่ 7.5-8.5 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของธนาคารให้กับลูกค้า ในขณะที่โอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ธนาคารยังคงมองโอกาสนอกประเทศไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีเครือข่ายของ MUFG เข้าไปลงทุน เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ขณะที่การขยายสาขาในปีนี้ธนาคารจะเน้นรูปแบบ Smart Branch เพิ่มอีก 12 สาขา จากปีก่อนที่มีการเปิดไป 2 สาขา ที่สยามพารากอน และไอคอนสยาม รวมถึงตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าผู้ใช้โมบายแอพพลิเคชั่น KMA เพิ่มเป็น 5 ล้านราย จากปีก่อนที่ 2.5 ล้านราย