นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.พ.62 ดัชนีรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.62) ปรับเพิ่มขึ้น 25.07% มาอยู่ที่ระดับ 116.76 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 4 เดือน และอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 80-119)
ผลสำรวจพบว่านักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์การเมืองที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ติดตามความคืบหน้าผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และติดตามเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ และดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourism) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media)
สำหรับปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นตาม Sentiment การลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การเมืองภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากความชัดเจนของวันเลือกตั้ง หลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้กลุ่มใดเข้ามาเป็นรัฐบาล และจะสานต่อโครงการต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อย่างไร
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศนั้ นักลงทุนก็ได้คลายความกังวลไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ก่อนหน้านี้มองว่าจะมีการปรับขึ้นราว 2-3 ครั้ง แต่ปัจจุบันมองว่าอาจจะไม่มีการปรับขึ้นแล้ว และยังได้ชะลอการดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วย ขณะที่สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและประเทศจีนก็เริ่มคลี่คลายความตึงเครียดลงและเชื่อว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของการทำข้อตกลงการที่อังกฤษจะออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้
ในช่วงเดือน ม.ค.62 เป็นเดือนแรกที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิ หลังจากไหลออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (60-61) โดยขณะนี้เงินทุนต่างชาติยังมีทิศทางไหลเข้า ซึ่งประเทศไทยเองเงินทุนไหลเข้าช้ากว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากภาวะของการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่างๆ รวมถึงค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
"ก่อนหน้านี้ประเทศเกิดใหม่อื่นๆเงินทุนไหลเข้าไปจำนวนมากแล้ว และไทยเองก็ไหลเข้ามาเช่นกันแต่ยังถือว่าเงินทุนไหลเข้ามาน้อยอยู่ และประเทศไทยเองถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ด้วยปัจจัยพื้นฐานต่างๆที่แข็งแกร่ง จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่เงินทุนจะไหลเข้าต่อเนื่อง และจะเป็นส่วนที่ให้เรายังมีมุมมองเชิงบวกว่าตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้นอยู่"นายไพบูลย์ กล่าว