นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงาน รายได้และกำไรสุทธิ รวมถึงกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 62 ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 61 ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของทุกธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30-40%, ธุรกิจถ่านหิน มีสัดส่วนรายได้ที่ 40-50%, ธุรกิจเชลล์ก๊าซ มีสัดส่วนรายได้ที่ 8-10%
สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย หรือบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ถือเป็นธุรกิจน้องใหม่ของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้เข้ามาในอีก 3 ข้างหน้า และจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 5% ของรายได้รวม
ปัจจุบัน บริษัทได้ให้บริการด้านสมาร์ทซิตี้โซลูชั่นให้กับโรงเรียนนานาชาติรักบี้ประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจพื้นที่การออกแบบระบบการเข้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และสมาร์ทโซลูชั่นด้วยเทคโนโลยีสะอาดและทันสมัยแบบครบวงจร ไปจนถึงการบำรุงรักษาเพื่อมอบพลังงานสะอาดและสมาร์ทโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียนสู่การเป็นสมาร์ทแคมปัส
ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท เฉพาะในเฟสแรก หรือคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1 เมกะวัตต์ และยังมีแผนที่จะดำเนินการร่วมกันกับทางโรงเรียนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงทุนในช่วงถัดไป คือ การทำโซลาร์ลอยน้ำ อีกทั้งยังมองการขยายการลงทุนไปยังชุมชน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ในปีนี้และปีหน้าจะยังไม่เห็นรายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตโซล่าร์รูฟท็อป หรือ พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งทั่วเอเชีย-แปซิฟิก รวม 170 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยจำนวน 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอย COD ครบทั้งหมดได้ภายในปี 63
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือรวมแล้วจำนวน 4,300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะรองรับไปจนถึงปี 68 จากปัจจุบันมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) แล้วจำนวน 2,400 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเน้นการลงทุนพลังงานทดแทน (Renewable) และ Green field เป็นหลัก
ส่วนธุรกิจถ่านหิน มองว่าราคาถ่านหินปัจจุบันขยับตัวขึ้นไปสูงแล้ว อยู่ที่ 99-105 เหรียญ/ตัน โดยคาดว่าปีนี้ราคาถ่านหินน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80-85 เหรียญ/ตัน
นางสมฤดี กล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายจะประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทยฉบับใหม่ ซึ่งในแผน PDP ฉบับใหม่นั้นจะมีการกำหนดนโยบายโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์ภาคประชาชน,โซลาร์ลอยน้ำ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ บริษัทฯ มองว่านโยบายของรัฐบาลได้ตอบโจทย์ธุรกิจพลังงานในปัจจุบัน และตรงกลับนโยบายของบริษัท
หากภาครัฐจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ(โซลาร์ลอยน้ำ) จำนวน 700 เมกะวัตต์, เปิดประมูลโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หรือเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP บริษัทฯ ก็ถือว่าพร้อม และมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เช่น การทำโซลาร์ลอยน้ำที่ประเทศจีน จำนวน 50 เมกะวัตต์ มาแล้วประมาณ 2 ปี และยังมีแผนทำให้กับโรงเรียนนานาชาติรักบี้ประเทศไทยเพิ่มเติมอีก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องดูรายละเอียดจากทางภาครัฐก่อนว่ามีความสนใจเข้าร่วมลงทุนหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกระแสเงินสดในมืออยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญฯ ถือว่าเพียงพอต่อการลงทุนทุกกลุ่มธุรกิจ
ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 61 ถือเป็นปีที่ดีของบริษัท จากการรับรู้รายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสา ,ธุรกิจในจีน เช่น โซลาร์ลอยน้ำ จำนวน 50 เมกะวัตต์, ธุรกิจแบตเตอรี่ 400 เมกะวัตต์ และการรับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุน (ปันผล) ของเหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทจะประกาศงบการเงินปี 61 ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ และมีกำหนดแถลงแผนการดำเนินงานในปี 62 วันที่ 28 ก.พ.62