นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในการผลักดันกรุงศรี โมบาย แอพพลิเคชั่น (KMA) สู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกการเงินในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม API Open Banking, AI และ Big Data & Intelligence ในปี 62 ธนาคารได้ทุ่มงบกว่า 800 ล้านบาทในการพัฒนา KMA และขับเคลื่อนกลยุทธ์บน 3 แกนหลัก คือ Acquisition, Services และ Marketing โชว์ฟีเจอร์ใหม่หลากหลายบริการ ซึ่งจะทยอยออกมาสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เหนือกว่าตลอดปี 62 เช่น การเปิดบัญชีออมทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุน และเปิดบัญชีหุ้น ผ่าน KMA ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสมัครและยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID และ e-KYC
ขณะที่ในส่วนของการสมัครสินเชื่อยานยนต์และสินเชื่อบ้าน ผ่าน KMA จะทยอยเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/62 และตามมาด้วยการซื้อประกันอุบัติเหตุ การเดินทาง และสุขภาพ ผ่าน KMA ในไตรมาส 3/62
พร้อมกันนี้ ธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าผู้ใช้งาน KMA เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านรายในปี 62 จากปีก่อนที่มีจำนวนลูกค้าใช้ KMA รวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านราย โดยความสำเร็จของ KMA ในปี 61 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ปริมาณธุรกรรมสูงถึง 1,000 ล้านรายการใน 1 ปี หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ด้วยสถิติยอดธุรกรรมสูงสุดถึง 7,000 รายการต่อนาที คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 5 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยมี 5 ประเภทธุรกรรมยอดนิยม ได้แก่ การเช็คยอด ดูรายการเดินบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล และเติมเงิน
สำหรับฟีเจอร์ใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 61 ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากจากลูกค้าผู้ใช้งาน บริการกดเงินไม่ใช้บัตร (Krungsri Cardless) มียอดธุรกรรมเกิดขึ้นราว 3 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท บริการชำระเงินผ่าน QR Code มีมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท Krungsri GIFT มีลูกค้าเข้ามาแลกรับ GIFT กว่า 400,000 ครั้ง
ในส่วนของ Digital Lending มีผู้สมัครขอใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล Krungsri iFIN ราว 30,000 ใบสมัคร สมัครบัตรเครดิตกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ราว 3,000 ใบสมัครภายใน 1 เดือน รวมทั้งในด้านการลงทุนและบริหารความมั่งคั่ง มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ Krungsri Smart Advisor ราว 80,000 ครั้ง และมียอดการซื้อกองทุนผ่าน KMA ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จและความเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ KMA ในปีที่ผ่านมา
สำหรับปี 62 ธนาคารยังคงพัฒนาแพลตฟอร์ม KMA อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อโครงการ NDID (National Digital ID) และ e-KYC สมบูรณ์แบบมากขึ้น และในส่วนของการบริการลูกค้าจะได้รับความสะดวกมากขึ้นในการจัดการบัตรเครดิต สมัครบริการบัตรต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จะสามารถซื้อสินค้าและชำระเงินผ่าน Facebook Pay และชำระเงินผ่าน QR Code ด้วยบัตรเครดิต VISA และ MASTERCARD รวมทั้งการใช้ QR Code เพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศ
นอกจากนี้การพัฒนา KMA ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมการตลาด ด้วยการเป็น e-Marketplace หรือแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อ-ขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ จะเปิดให้พันธมิตรสามารถเพิ่มยอดขายด้วยการใช้พื้นที่ KMA e-Marketplace ในการเข้าถึงลูกค้าด้วยโปรโมชั่นพิเศษต่าง ๆ ขณะที่ลูกค้าผู้ใช้งาน KMA จะได้รับสิทธิพิเศษหรือส่วนลดเมื่อเลือกซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมทั้งชำระเงินค่าสินค้าผ่าน KMA ซึ่งกรุงศรีเชื่อว่า KMA e-Marketplace จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะส่งเสริมและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกค้าและธนาคาร
"KMA จะก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกการเงินในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม API Open Banking, AI และ Big Data & Intelligence โดยในปีนี้จะเดินหน้าขับเคลื่อนใน 3 แกนหลัก คือ การขยายฐานลูกค้า ที่ทำให้การสมัครใช้งานทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นเรื่องง่าย การบริการที่ทำให้ทุกธุรกรรม ครบ จบในที่เดียว และการตลาด ผ่านแคมเปญต่าง ๆ" นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ธนาคารจะมีบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะบริการด้านการด้านสินเชื่อผ่าน KMA ที่ในปีนี้จะเปิดให้บริการขอสินเชื่อในรูปแบบ Digital Lending สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการไปรับ-ส่งเอกสารของลูกค้า ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการภายในปีนี้ ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการรออนุมัติ NDID และ e-KYC จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหากอนุมัติแล้วธนาคารจะเริ่มเปิดให้บริการในส่วนของ Digital Lending การเปิดบัญชีเงินออมทรัพย์ การเปิดบัญชีกองทุนรวมและบัญชีหุ้นได้ทันที
ในส่วนของ Digital Lending ผ่าน KMA ธนาคารตั้งเป้าในปี 62 มียอดการอนุมัติสินเชื่ออย่างน้อย 3 พันล้านบาท ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการบริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตก่อน และในช่วงไตรมาส 2/62 จะเปิดให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน อีกทั้งการที่ธนาคารมีบริการ Digital Lending ที่มีระบบ NDID และ e-KYC จะช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้านสินเชื่อลดลง 30-40% เนื่องจากการที่มีระบบดังกล่าวไม่มีความจำเป็นต้องใช้พนักงานในการรับ-ส่งเอกสารของลูกค้า ซึ่งถือว่าต้นทุนในส่วนนี้อยู่ในขะดับที่ค่อนข้างสูง โดยที่ระบบ NDID และ e-KYC จะเป็นการดำเนินการทุกอย่างผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานในการรับ-ส่งเอกสาร
นอกจากนี้ การที่มี Digital Lending เข้ามาใช้ จะเห็นพฤติกรรมความต้องการใช้สินเชื่อของลูกค้าในวงเงินที่เล็กลงมาอยู่ที่ 5,000 บาท/ราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท/ราย ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับการใช้ Digital Lending ในประเทศจีนที่มีความต้องการไช้สินเชื่อในวงเงินที่ไม่มากที่ 3,000-5,000 บาท/รายการ ซึ่งการที่ลูกค้ามีความต้องการใช้สินเชื่อในวงเงินที่เล็กลง ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องปรับการทำงานของการให้สินเชื่อที่ต้นทุนจะต้องลดลงตามวงเงินให้สินเชื่อ ซึ่งการมี NDID และ e-KYC เป็นส่วนที่ช่วยในด้านต้นทุนได้ ส่วนในแง่ของความเสี่ยงในการปล่อยกู้ผ่าน Digital Lending นั้นมีความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก เพราะธนาคารมีฐานข้อมูลลูกค้าที่เป็น Information Database ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รวบรวมไว้ ทำให้ธนาคารสามารถทราบถึงข้อมูลของลูกค้าในเบื้องต้น และสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ทำให้ปัญหาหนี้เสียของ Digital Lending อยู่ในระดับต่ำมาก
"Digital Lending จะเป็นการปรับ Landscape ของการให้สินเชื่อ และทำให้ธนาคารจะต้องปรับการบริหารความเสี่ยงและการติดตามทวงหนี้ให้สอดคล้องกับขนาดของสินเชื่อที่เล็กลง และการมี Digital Lending จะช่วยดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบได้มากขึ้น"นายฐากร กล่าว
สำหรับบริการด้านเปิดบัญชีกองทุนที่จะเริ่มในไตรมาส 2/62 คาดว่าจะมีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 20-25% ส่วนการเปิดให้ซื้อประกันสุขภาพและประกันภัยผ่าน KMA จะเริ่มในไตรมาส 3/62 ธนาคารตั้งเป้ามีลูกค้าซื้อกรมธรรม์ผ่าน KMA จำนวน 10,000 กรมธรรม์ในปี 62 ส่วนการเปิดให้บริการชำระเงินผ่าน QR พร้อมเพย์ในประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนเม.ย.นี้ โดยปัจจุบันได้เจรจากับพันธมิตรร้านค้าญี่ปุ่น 3 รายที่เตรียมเปิดใช้บริการ