PTTEP ลุ้น"โมซัมบิก"เซ็นซื้อ-ขาย LNG อีก 2 ล้านตัน/ปีในก.พ.ก่อนเดินหน้า FID พร้อมปรับแผนหนุนใช้เงินลงทุนลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 11, 2019 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.เปิดเผยว่า โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน จะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ภายในครึ่งแรกของปี 62 หลังขณะนี้มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว 7.5 ล้านตัน/ปี และในเดือนก.พ.นี้ก็คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายอีก 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้มีปริมาณซื้อขาย LNG รวมเป็น 9.5 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ ปริมาณซื้อขาย LNG ที่ระดับ 9.5 ล้านตัน/ปี นับเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับด้านการเงิน ที่ผู้ให้กู้จะปล่อยสินเชื่อและทำให้สามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ ขณะที่การประมูลผู้รับเหมา และการปรับแผนลงทุนทำให้สามารถลดต้นทุนโครงการลงได้ 15-20% หรือมีเงินลงทุนรวมลดจาก 2.3-2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยในส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่ปตท.สผ.ลงทุนประมาณ 8.5% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายพงศธร มั่นใจว่าการลงทุนในโครงการโมซัมบิกจะให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนา LNG จากแหล่งใหม่เข้ามา และตลาดคาดการณ์ว่าราคานับจากนี้จนถึงปี 68 จะอยู่ที่ประมาณ 7-10 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และในช่วงปี 68-73 ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ. ซึ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง และมีต้นทุนต่ำ ปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างการเตรียมพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว 2 สายการผลิต (train) กำลังการผลิตรวม 12.88 ล้านตัน/ปี เพื่อรองรับการพัฒนาแหล่งโกลฟินโญ-อาตุม (Golfinho-Atum) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งหนึ่งในโครงการดังกล่าว

ขณะที่โครงการ ประกอบด้วยแหล่งพรอสเพอริดาเด (Prosperidade), แหล่งโกลฟินโญ-อาตุม (Golfinho-Atum), แหล่งออร์กา (Orca), แหล่งทูบาเรา (Tubarao) และแหล่งทูบาเรา-ทีเกร (Tubarao-Tigre) มีสำรองก๊าซธรรมชาติประมาณ 75 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิต LNG ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 67

นายพงศธร กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการแคช เมเปิ้ล ในออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ทั้งการหาพันธมิตรร่วมทุนหรือขายออกไป เนื่องจากออสเตรเลียมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ โดยปัจจุบันมีผู้แสดงความสนใจที่จะเข้าลงทุนโครงการนี้ ซึ่งทางบริษัทกำลังพิจารณาจะเปิดข้อมูลหรือดาต้ารูมให้นักลงทุนยื่นเสนอในการพัฒนา

ขณะเดียวกันตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยโฟกัสการลงทุนในไทย เมียนมา มาเลเซีย โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยเฉพาะโอมาน และ UAE ที่มีแผนจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ