ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (22 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้ยาแรงด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น (fed funds rate) ลง 0.75% สู่ระดับ 3.50 % และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ลง 0.75% สู่ระดับ 4.00% ในการประชุมฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 128.11 จุด หรือ 1.06% แตะระดับ 11,971.19 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 14.69 จุด หรือ 1.11% แตะระดับ 1,310.50 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดดิ่งลง 47.75 จุด หรือ 2.04% แตะระดับ 2,292.27 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 2.59 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 9 ต่อ 7 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ประมาณ 3.10 พันล้านหุ้น
ในเบื้องต้นนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงตามตลาดหุ้นในทั่วโลก และเมื่อคณะกรรมการเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ก็ช่วยพยุงตลาดให้สามารถไต่ขึ้นจากการร่วงลงอย่างหนักได้ แต่ไม่นานนักตลาดเริ่มถอยกลับไปเคลื่อนไหวในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนมองว่าปัญหาระยะยาวที่สหรัฐจะต้องเผชิญคือภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัย และการกอบกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการเฟดกล่าวในแถลงการณ์ว่า "การตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการเฟดเล็งเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และมีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะเผชิญช่วงขาลง แม้ข้อจำกัดด้านการระดมทุนระยะสั้นในตลาดได้ผ่อนคลายลงบ้างแล้ว แต่ภาวะในตลาดการเงินยังคงซบเซาลง และภาวะสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก็ตึงตัวมากขึ้นด้วย"
นอกจากนี้ คณะกรรมการเฟดกล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัวลงมากขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงานก็อ่อนตัวลงเช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมการเฟดจะยังคงประเมินผลกระทบด้านการเงิน และผลกระทบด้านอื่นๆที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และหากจำเป็นเฟดก็จะดำเนินการในเวลาที่เหมาะสมเพื่อขจัดความเสี่ยงเหล่านี้"
นายไมค์ เชนค์ นักวิเคราะห์จากเครดิต ยูเนียน เนชันแนล แอสโซซิเอชัน กล่าวว่า "แม้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.50% แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถยับยั้งภาวะถดถอยของเศรษฐกิจได้ ตราบใดที่ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ เนื่องจากตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม"
"แม้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงอีก แต่หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง ผู้บริโภคก็อาจจะลดการใช้จ่ายลง แม้แต่ในช่วงเทศกาลวันหยุดที่ตัวเลขการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักก็ตาม" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ของสหรัฐได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการปรับลดภาษี โดยมุ่งหวังที่จะช่วยสกัดกั้นมิให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยบุชมั่นใจว่างบประมาณครั้งนี้ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มากพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวได้ต่อไปและมีการสร้างงานมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--