นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน (PRM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 10-15% โดยจะมาจากธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บฯ (FSU business) ที่มีการเติบโตดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 49% จากปี 61 อยู่ที่ประมาณ 37% เนื่องด้วยจะมีความต้องการใช้เรือขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น หลังองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization:IMO) มีการบังคับใช้มาตรการการลดซัลเฟอร์อรส์สำหรับเชื้อเพลิงที่ถูกปล่อยจากเรือขนส่ง โดย IMO จะลดอุปทานเรือขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ และยิ่งทำให้กองเรือขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงมองแนวโน้มค่าระวางเรือก็ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ธุรกิจเรือขนส่งในประเทศ บริษัทฯ เตรียมรับมอบเรือเพิ่มอีกจำนวน 6 ลำ ในครึ่งปีแรกนี้ขนาด 3,000 DTW แบ่งเป็นของ PRM จำนวน 5 ลำ และบิ๊กซี 1 ลำ ให้แล้วเสร็จในครึ่งปีแรกของปีนี้ จากปัจจุบันที่ PRM มีเรือขนส่ง 14 ลำ และบิ๊กซีอีก 12 ลำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวและเพิ่มความถี่ในการให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมภายในประเทศ หรือมีความสามารถให้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 ล้านลิตรต่อปี รวมถึงเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจให้บริการขนส่งปิโตรเลียมและปิโตรเลียมเหลวทางเรือจากเดิมที่มีอยู่ 49%
โดยในส่วนนี้จะแบ่งเป็นการใช้ทดแทนเรือเก่า 3 ลำ วางงบลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างพิจารณาซื้อเรือขนส่งและกักเก็บฯ (FSU) เพิ่มอีก จำนวน 1-2 ลำ วางงบลงทุนไว้ที่ 1,200 ล้านบาท/ลำ หลังจากที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดการใช้เรือเพื่อกักเก็บเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเรือลำแรกจะเริ่มให้บริการในช่วงต้นไตรมาส 2/62 ซึ่งจะส่งผลดีต่อขีดความสามารถการให้บริการที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีอัตราการใช้บริการมากกว่า 90% ของจำนวนเรือขนส่งและกักเก็บที่ให้บริการอยู่ 5 ลำ
และพิจารณาซื้อเรือขนส่งระหว่างประเทศอย่างน้อย 1 ลำ เพื่อขนส่งน้ำมันใสแทนน้ำมันเตา บริษัทจะพิจารณาจัดหาเรือขนส่งขนาดใหญ่ ที่มีขนาดบรรทุก 40,000-50,000 DTW เข้ามาประจำการเพิ่มเติม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าสิ้นปี 62 จะมีกองเรือทั้งสิ้นมากกว่า 40 ลำ
ทั้งนี้ธุรกิจเรือสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Offshore business) บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับบมจ.ปตท.สำรจวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ให้บริการเรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม (Accommodation Work Barge) จำนวน 1 ลำ และในปีนี้จะขยายการให้บริการในหลากหลายประเภทที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะและสำรวจ ร่วมถึงยังร่วมมือกับทางพาร์ทเนอร์ให้บริการเรือขนส่งคน โดยในอนาคตก็มีแผนเพิ่มเรือครูซโบ๊ท อีกจำนวน 4 ลำ
"ปีที่ผ่านมาเราเน้นปรับพอร์ตกองเรือเพื่อให้สอดรับกับภาพรวมอุตสาหกรรม แต่ในปีนี้เรามุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ หลังมีปัจจัยเชิงบวกที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ทำให้เรามีแผนขยายขนาดกองเรือที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 36 ลำ ส่งผลให้ PRM สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และสามารถเก็บเกี่ยวรายได้สูงสุด" นายชาญวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาต่อยอดธุรกิจ หรือแตกไลน์ธุรกิจไปในธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ในลักษณะของการเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตร และการลงทุนเอง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 2/62 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการเข้าซื้อซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ร่วมกันกับพันธมิตร โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโครงการดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะเข้ายื่นซองประมูลในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ได้ แต่ในรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ขอเปิดเผยในขณะนี้
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ วางงบลงทุนรวมในปีนี้มากกว่า 6,000 ล้านบาท และยังมีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับที่ต่ำประมาณ 0.57 เท่า ซึ่งถือว่ายังมีความสามารถในการกู้จากสถาบันทางการเงินได้อีกมาก
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมเสนอบอร์ดบริษัทในวันที่ 22 ก.พ.62 เพื่อขออนุมัติการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 10% ในบริษัท บิ๊ก ซี จำกัด (Big Sea) ผู้ประกอบธุรกิจขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทางทะเล ซึ่งจะส่งผลทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นเพิ่มเป็น 80% จากเดิมถืออยู่ 70%
"ปี 62 ถือเป็นปีที่ดีมากของเรา จากธุรกิจ FSU กลับมาเติบโตดีขึ้น เรือขนส่งระหว่างประเทศก็ดีขึ้น ส่วนธุรกิจ Offshore แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ แต่ยังคงทำกำไรได้ และธุรกิจ Ship Management มีบริการกองเรือต่อเนื่อง รวมถึงการขนส่งในประเทศ ก็มีการเพิ่มกองเรือ เพื่อรองรับความต้องการใช้มากขึ้น"นายชาญวิทย์ กล่าว