ฟิทช์ ชี้อุตฯ โทรคมนาคมแข่งขันรุนแรง สร้างแรงกดดันต่อกำไรผู้ประกอบการในปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 13, 2019 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลประกอบการล่าสุดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยรายใหญ่สองราย แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะเริ่มใช้การส่งเสริมการตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะกดดันกำไรโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับที่สาม ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

ผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับหนึ่ง หรือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ DTAC ได้รายงานรายได้ที่เติบโตในอัตราที่ลดลง และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ลดลง เนื่องจากแพ็กเกจแบบใช้งานข้อมูลไม่จำกัด (Unlimited Data Plan) รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS ในปี 2561 เติบโตในอัตราที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.3% จาก 3.3% ในปี 2560 ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ DTAC ปรับตัวลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ 0.7% ในปี 2560 การเสนอโปรโมชั่นทางการตลาดที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ ส่งผลให้ EBITDA ของ AIS ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ปรับตัวลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ EBITDA ของ DTAC ปรับตัวลดลง 23%

ฟิทช์ คาดว่าสภาพอุตสาหกรรมจะยังคงมีความท้าทายในปี 2562 โดยฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะมีการนำเสนอแพ็กเกจการให้บริการที่ดึงดูดมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต้องการแย่งชิงสัดส่วนทางการตลาดกลับคืน ซึ่งอาจจะลดทอนประโยชน์จากแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

นอกจากนี้กำไรของ DTAC ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม สำหรับการเช่าใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที สำหรับการให้คลื่นความถี่ 2.3 GHz ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 36.5% ในปี 2562 จาก 37.8% ในปี 2561 ในขณะที่การให้ส่วนลดค่าเครื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะบางพื้นที่ของ AIS น่าจะมีผลกระทบต่อ EBITDA Margin ของบริษัทไม่มากนัก

ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2562 หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz และ 900 MHz โดยก่อนหน้านี้บริษัทมีความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ และคุณภาพของเครือข่ายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายและการปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท น่าจะใช้เวลาหลายไตรมาส ดังนั้นการปรับตัวดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่ 2.0 เท่าในปี 2562

AIS น่าจะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้แสดงให้เห็นว่ามีความผันผวนที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้โดยรวมอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานที่สามารถคาดการณ์ได้ และการลงทุนที่ลดลง น่าจะทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ AIS ในปี 2562 น่าจะเป็นบวก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับคลื่นความถี่ที่ลดลง และการลดลงของการลงทุนในโครงข่าย หลังจากที่บริษัทเสร็จสิ้นการลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 3G และ 4G ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 เท่าในปี 2562 จาก 1.7 เท่าในปี 2561 และทำให้ AIS มีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ