โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" PTTEP มองแนวโน้มกำไรปี 62 เติบโตแม้ Q1 ไม่เด่น เติมแผนขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า-FID โมซัมบิกหนุน Upside

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 13, 2019 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จากแนวโน้มกำไรปี 62 ที่จะเติบโตจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น หลังเข้าไปถือสัดส่วนเพิ่มในแหล่งบงกช แม้ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยน่าจะอ่อนตัวลง แต่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรในไตรมาส 1/62 จะยังไม่เด่น โดยมีแนวโน้มทรงตัวถึงอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายและราคาขายปิโตรเลียมที่ลดลง

อย่างไรก็ตามอนาคตรายได้และกำไรของ PTTEP จะดีขึ้น จากกลยุทธ์เชิงรุก โดยเฉพาะในส่วนของการจะเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าตามโครงการ Gas to Power สร้างโอกาสและกระจายความเสี่ยง ซึ่งมีแผนจะเริ่มโครงการในเมียนมา รวมถึงการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โครงการโมซัมบิก แหล่งผลิต LNG ขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกปีนี้ และการเซ็นสัญญาเพื่อเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (operator) แหล่งบงกชและเอราวัณ หลังจากหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 จะเป็น Upside ต่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ PTTEP

นอกจากนี้แนวโน้มกำไรของบริษัทในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่มีสัดส่วนการผลิตก๊าซฯมากอย่าง PTTEP น่าจะดีกว่าบริษัท E&P ที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันมากในสภาวะที่ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน ขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาก่อนหน้านี้สะท้อนราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของราคาน้ำมันทำให้มีความน่าสนใจต่อการลงทุน

หุ้น PTTEP พักเที่ยงอยู่ที่ 123.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ +1.65% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.54%

          โบรกเกอร์                         คำแนะนำ                  ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง                             ซื้อ                           152
          ฟินันเซีย ไซรัส                        ซื้อ                           150
          เคจีไอ (ประเทศไทย)               Outperform                      145
          เอเชีย เวลท์                         ซื้อ                           139
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                     ซื้อ                           135
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                  ทยอยซื้อ                        131
          หยวนต้า (ประเทศไทย)              ซื้อเก็งกำไร                       138
          เคทีบี (ประเทศไทย)                   ซื้อ                           139
          ทรีนีตี้                               ซื้อ                           151
          เอเซีย พลัส                          ซื้อ                           168

นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า ราคาหุ้น PTTEP ในช่วงที่ผ่านมาปรับฐานไประดับหนึ่งแล้ว จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ แต่ระยะสั้นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ทำให้หาจังหวะในการเข้าซื้อ ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และโอมาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ PTTEP มากขึ้น

โดยเฉพาะใน เมียนมาที่มีโครงการธุรกิจโรงไฟฟ้า (Gas to Power) ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ โดยมีแผนจะขายก๊าซฯเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในเมียนมา ด้วยการวางเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตจากแหล่งซอติก้าให้มากเท่ากับแหล่งบงกช ซึ่งทำให้ธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การขุดเจาะก๊าซฯ และส่งผ่านท่อก๊าซฯไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

ส่วนการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในโครงการโมซัมบิก ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และการจะได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ฉบับใหม่ของแหล่งบงกชและเอราวัณ ในอ่าวไทย หลังทั้งสองแหล่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าจะสามารถลงนามสัญญา PSC ใหม่ได้ในราวเดือน ก.พ.นี้ ก็จะทำให้กำลังการผลิตปิโตรเลียมของ PTTEP มีความมั่นคงจากปริมาณสำรองที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 62 คาดว่า PTTEP จะมีกำไรปกติจะลดลง 11.3% มาที่ 3.48 หมื่นล้านบาท จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่อ่อนตัวลงมาที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่มีปริมาณขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นเข้ามาช่วยหนุนได้บ้าง ส่วนในไตรมาส 1/62 กำไรปกติจะลดลงจากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงจากการที่บมจ.ปตท.(PTT) อาจเรียกรับก๊าซฯจากอ่าวไทยลดลง เพราะให้น้ำหนักกับการใช้ LNG นำเข้าเพิ่มขึ้น รวมถึงแหล่งบงกชหยุดผลิตกว่า 1 เดือน ประกอบกับราคาก๊าซฯและราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง

ด้านบทวิเคราะห์บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของ PTTEP ในปี 62 จะมีกำไรปกติที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อน สอดคล้องปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 4% และราคาก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น 6% แม้มองราคาน้ำมันดิบดูไบอ่อนตัวมาที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตามกำไรปกติในช่วงไตรมาส 1/62 จะไม่โดดเด่นมากนัก โดยคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากยอดขายที่ลดลง 4% ตามแผนหยุดซ่อมแหล่งบงกช 1.5 เดือน และราคาขายเฉลี่ยถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกที่นับตั้งแต่ต้นไตรมาสจนถึงปัจจุบัน ปรับตัวลง 11% มาที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ค่าใช้จ่ายภาษีจะลดลง เพราะไม่น่าจะมีภาษีเงินได้รอตัดบัญชีโครงการท่อขนส่งก๊าซฯซอติก้า 2.4 พันล้านบาทอย่างเช่นไตรมาส 4/61

ขณะที่ PTTEP วางแผนกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น ทั้งการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างการผลักดันโครงการGas to Power ในเมียนมา ซึ่งจะสร้างโอกาสและกระจายความเสี่ยงให้ PTTEP และการเน้นพัฒนาแปลงผลิตปิโตรเลียมเองมากกว่าทำดีลซื้อกิจการ (M&A) เพราะมีมาร์จิ้นที่ดีกว่า รวมถึงโครงการโมซัมบิกที่มีความคืบหน้ามากขึ้น และคาดว่าจะ FID ได้ตามแผนในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วราว 1 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 5 ปี และเป็น Upside ที่ไม่รวมในประมาณการ

บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรสุทธิของ PTTEP ในปี 62 เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน แม้มองราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 61 ที่อยู่ระดับ 69.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ปริมาณขายจะเพิ่มขึ้น 4%มาที่ 3.18 แสนบาร์เรล/วัน จากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนแหล่งบงกชอีก 22.22% เป็น 66.66% นับตั้งแต่ ก.ค.61 และราคาขายก๊าซฯในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% มาที่ 6.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

ทั้งนี้ เห็นว่าอนาคตรายได้และกำไรของ PTTEP จะดีขึ้น จากสัดส่วนการขายปิโตรเลียมของ PTTEP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสวนทางกับความต้องการปิโตรเลียมของประเทศ เนื่องจาก PTTEP ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนแหล่งบงกชเพิ่ม รวมถึงการเตรียมเข้าเป็น Operator ในแหล่งเอราวัณ แทนเชฟรอน และแหล่งบงกช ภายใต้สัญญา PSC ฉบับใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป นอกจากนี้กลุ่มผู้ผลิต LNG ในแหล่งโมซัมบิก ยังเตรียมจะเริ่ม FID โครงการภายในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ PTTEP ก้าวเข้าสู่ธุรกิจ LNG แม้จะมีสัดส่วนการถือหุ้นไม่มากเพียง 8.5% ในแหล่งดังกล่าว แต่เป็นก้าวเข้าสู่ธุรกิจ LNG ซึ่งเป็นทิศทางธุรกิจในอนาคตที่ PTTEP ตั้งใจเข้าไปดำเนินการ

ด้านบล.บัวหลวง เห็นว่าแนวโน้มกำไรของบริษัท E&P ที่มีสัดส่วนการผลิตก๊าซฯมากอย่าง PTTEP น่าจะดีกว่าบริษัท E&P ที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันมากในสภาวะที่ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน รวมถึงราคาหุ้นในปัจจุบันยังคงถูก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ