นางชนมาศ ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายปริมาณการผลิต และปริมาณขายไว้ที่ระดับ 318,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าในไตรมาส 1/62 จะสามารถผลิตและขายได้เพียง 309,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเป็นช่วงของการปิดซ่อมบำรุงแหล่งบงกชใต้ แต่ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้จะเร่งการผลิตกลับมาให้สู่ระดับที่วางไว้ได้
ขณะที่นโยบายของบริษัทต่อจากนี้ไปจะเน้นลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งในประเทศไทยและเมียนมา รวมถึงลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแหล่งในไทย คือ แหล่ง S1, แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ขณะที่เมียนมาจะเพิ่มปริมาณผลิตและขายที่แหล่งยานาดาและแหล่งซอติก้า
ส่วนกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริษัทเล็งเห็นโอกาสการลงทุนที่มาเลเซีย เนื่องจากมีแหล่งขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไทย บริษัทจึงได้มีการเจรจากับปิโตรนาสเพื่อหาโอกาสลงทุนแล้ว ขณะที่ในอินโดนีเซีย ถือว่ามีโอกาสการลงทุนอีกมาก เพราะว่าแหล่งปิโตรเลียมหลายแห่งที่จะหมดอายุสัมปทาน จึงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมอีกครั้ง
สำหรับประเทศเวียดนาม มองว่าเป็นโอกาสที่จะลงทุนที่ดี เพราะเวียดนามมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาการขายก๊าซ โดยคาดในปี 62 จะสรุปแผนลงทุนได้
นอกจากนี้ บริษัทจะมองหาโอกาสลงทุนเพิ่มในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เพราะถือเป็นแหล่งขนาดใหญ่ และมีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำ
"ประเมินว่าการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่ไทย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ จะส่งผลให้การทำกำไรนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี"นางชนมาศ กล่าว
นางชนมาศ กล่าวอีกว่า บริษัทคาดภายในไตรมาส 1/62 จะสามารถเซ็นสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 และG2/61 (แปลงเอราวัณและแปลงบงกช) ในรูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต จากนั้นจะเริ่มหารือกับผู้ประกอบการเดิม เพื่อให้บริษัทสามารถคงปริมาณการผลิตในแหล่งดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับ 1,500 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ขณะที่คาดในปี 67 จะมีกำลังปิโตรเลียมจาก 3 โครงการใหม่เข้าสู่ระบบจำนวนประมาณ 40,000 บาร์เรลต่อวัน จากโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ,โครงการแหล่งแอลจีเรีย และโครงการที่เวียดนาม