นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 62 โต 5-7% จากพอร์ตสินเชื่อเอสเอึมอีคงค้างของธนาคารอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ซึ่งกลยุทธ์ของธนาคารในการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีจะเน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความต้องการใช้สินเชื่อหมุนเวียน (Working capital) ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้น รวมไปถึงโอกาสการขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กและกลาง ซึ่งหากการเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในช่วงหลังการเลือกตั้งเดินหน้าต่อ จะทำให้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ส่งต่องานมาให้กับกลุ่มรับเหมารายกลางและเล็ก ทำให้ธนาคารเล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายสินเชื่อกับกลุ่มดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในปี 62 ยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยด้วย อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัวยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังไม่ชัดเจนว่าปีนี้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนเท่าใด ทำให้การขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารจะเน้นขยายในบางกลุ่ม และไม่เร่งการขยายสินเชื่อมาก แต่จะเป็นการเน้นสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มเอสเอึมอีให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการทำธุรกิจ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก คือ Google ในการให้บริการ Google My Business ที่จะเป็นแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการขายของลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร ช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินธุรกิจทั้งในแบบหน้าร้านและการทำออนไลน์ควบคู่กันถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แพลตฟอร์มของ Google My Business นี้จะช่วยให้การทำในรูปแบบดังกล่าวสะดวกและง่ายมากขึ้น ผนวกกับการเข้าถึงของ Google ในวงกว้าง ทำให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลและเข้าถึงร้านค้าของผู้ประกอบการได้มากขึ้น
ในช่วงปลายปี 61 ที่ผ่านมาธนาคารได้เริ่มเปิดบริการ Google My Business กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กของธนาคารไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการปักหมุดร้านค้าไปแล้วจำนวน 100,000 ราย จากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กของธนาคารที่มีอยู่ทั้งหมด 300,000 ราย ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีหน้าร้านดำเนินธุรกิจประเภทร้านอาหาร โรงแรม และค้าปลีก และธนาคารยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการปักหมุดเพิ่มเป็นเกิน 1 ล้านราย ภายใน 1-2 ปี ซึ่งการให้บริการดังกล่าวนั้นจะทำให้ธนาคารต่อยอดการให้บริการกับลูกค้าเอสเอ็มอีได้หลากหลาย หลังจากที่ลูกค้าเห็นผลถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านสินเชื่อ การบริการด้านระบบชำระเงิน และการบริการต่าง ๆ ผ่านสาขา และ Business Center ของธนาคาร เป็นต้น
ด้านนายอารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ของ SCB กล่าวว่า ความร่วมมือกับพันธมิตร Google ในเฟสต่อไปธนาคารจะเพิ่มบริการใหม่ในอีก 1-2 ไตรมาสข้างหน้า โดยจะเชื่อมกับโมบายแอพพลิเคชั่น SCB Easy ซึ่งลูกค้าสามารถปักหมุดร้านค้าของตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่นได้เลยใน SCB Easy รวมไปถึงธนาคารจะต่อยอดความร่วมมือเพิ่มเติมทางด้านบริการขนส่งระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดควาสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า ซึ่งบริการใหม่จะเปิดให้บริการได้ในปีนี้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1/62 ของธนาคารคาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาส 4/61 เนื่องจากยังคงได้รับแรงกดดันจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ในด้านการขยายตัวของสินเชื่อยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 4/61 ทำให้ธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 5-7%
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะควบคุมให้ไม่เกิน 8% จากสิ้นปีก่อนที่ 7.97% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งหมดของธนาคารที่ 2.85% ถือว่า NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ในระดับที่สูง โดยปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 8 แสนล้านบาท ซึ่ง NPL ใหม่ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอียังมีแนวโน้มที่ไม่นิ่งหรือยังคงปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่ NPL เก่าของสินเชื่อเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับสูง หากเทียบกับพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารที่ 2 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่น่ากังวลมากนัก เพราะพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอียังมีขนาดที่เล็กกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่