นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทคงเป้ารายได้ปี 62 ที่ระดับ 7,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่คาดจะทำได้ราว 6,000 ล้านบาท หลังเตรียมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 100 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คิมิตสึ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์, โครงการ CPF Solar Rooftop ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาฟาร์มที่ประเทศมาเลเซีย ที่ถือหุ้นราว 70% มีกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพ.ย.62 ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้บริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวมเป็น 470 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือรวมแล้ว 580 เมกะวัตต์ โดยยังคงเป้าหมายภายในปี 64 จะมี PPA เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ โดยเตรียมขยายงานติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาของโรงงานกลุ่มบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ในประเทศเวียดนามและกัมพูชา กำลังการผลิตราว 70-100 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม เพิ่มเติมอีก
สำหรับธุรกิจรับเหมาและวางระบบก่อสร้างด้านวิศวกรรม (EPC) ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 2,200 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ภายปีนี้ และบริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก มูลค่า 33,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 11,000 ล้านบาท, โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใน จ.เชียงใหม่, ภูเก็ต, ชลบุรี และนครราชสีมา มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท และโครงการติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย 40-50 แห่ง ขนาด 115-230 กิกะวัตต์ มูลค่า 11,000 ล้านบาท โดยบริษัทคาดหวังได้รับงานประมาณ 10-15% ของงานทั้งหมด หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้นี้บริษัทเตรียมจับมือพันธมิตร PysMian เข้ายืนประมูลงานโครงการวางสายเคเบิลใต้ทะเล 3 เกาะ ได้แก่ เกาะเต่า มูลค่า 1,800 ล้านบาท, เกาะสมุย มูลค่า 2,300 ล้านบาท และเกาะปันหยี มูลค่า 140 ล้านบาท คาดว่าภาครัฐจะเริ่มเปิดให้ประมูลได้ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์นี้ และน่าจะเคาะราคาหลังช่วงสงกรานต์ โดยคาดภายในช่วงไตรมาส 2/62 น่าจะทราบผลการประมูลดังกล่าวได้
ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (14 ก.พ.) บริษัท ได้ร่วมลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) กับบมจ.ยูนิคอร์ด (UCT) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.92 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เฟส แบ่งเป็นเฟส 1 ประมาณ 1.24 เมกะวัตต์ และเฟส 2 ประมาณ 680 กิโลวัตต์ โดยคาดว่าจะทยอยก่อสร้างได้ช่วงเดือนเม.ย. โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 60 ล้านบาท บนพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6 ล้านหน่วย/ปี โดยความร่วมมือของทั้งสองบริษัทยังคงผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน คาดว่าจะดำเนินการศึกษาความสามารถในการติดตั้งโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำให้กับพื้นที่ผิวน้ำที่มีศักยภาพของ UCT ร่วมกันในเฟสถัดไปด้วย
"ความร่วมมือทางธุรกิจกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัท และจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตได้ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหลักได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับบริษัทยูนิคอร์ด โดยคาดว่าจะทยอยก่อสร้างได้ช่วงเดือนเม.ย.นี้"นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจพลังงาน 65% และธุรกิจ EPC 35% แต่จะมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจพลังงานราว 70-75% ขณะที่ในปีนี้มีแผนออกหุ้นกู้มูลค่า 2,500 ล้านบาท ในช่วงเดือนต.ค.62 เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะหมดอายุลง