นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการประชุมร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ประมูลได้คลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิรตซ์ (MHz) ว่า การประชุมเมื่อวาน (13 ก.พ.) เป็นการประชุมระหว่าง กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงการคลัง ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย (เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ) เพื่อพิจารณาข้อเสนอมาตรการช่วยผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่น 900 MHz โดยที่ประชุมได้รับทราบความจำเป็นที่เอกชนควรได้รับมาตรการช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
ในที่ประชุมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสามรายได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาการลงทุนในระบบ 3G และ 4G ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน อีกทั้งได้ใช้เงินที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินในการลงทุนระบบ 4G หมดแล้ว จึงส่งผลให้ขณะนี้ไม่มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการลงทุนใน 5G ที่คาดว่าจะมีมูลค่าในการลงทุน ทั้งการประมูลคลื่นความถี่ และการปรับปรุงเครือข่ายเพื่อรองรับ 5G มากกว่า 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปและคาดว่าจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมอีกหลายครั้งจึงจะสรุปมาตรการที่ชัดเจน
การขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ แต่รัฐจะได้รับเงินส่วนนี้ล่าช้าออกไปเท่านั้น ทั้งนี้ หากการพิจารณาไม่เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไป ผู้ประกอบการก็จะไม่มีเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5G และหากไม่สามารถขับเคลื่อนในเกิด 5G ในปี 63 ไทยอาจล้าหลังประเทศอื่นในการแข่งขัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
นายฐากร กล่าวว่า ไม่สามารถระบุได้ว่ามาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการทีวีดิจิทัลและกิจการโทรคมนาคม จะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ โดย กสทช.ได้มีการชี้แจงในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดต่อที่ประชุมแล้ว ฉะนั้น จึงต้องติดตามต่อไปว่าการพิจารณาจะมีความชัดเจนอย่างไร
"กสทช. พยายามผลักดันให้มีการนำคลื่นความถี่ไปใช้งานมากที่สุด และเมื่อมีการใช้งานแล้วต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งหากไม่มีการจัดการประมูล เพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน ประเทศจะไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ และหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ให้ยุบ สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลในส่วนนี้ไป"
สำหรับค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz งวดสุดท้าย ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส มีมูลค่า 59,574 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีมูลค่า 60,218 ล้านบาท และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค มีมูลค่า 30,024 ล้านบาท