โบรกฯเชียร์"ซื้อ"RS เป็น Domestic play เด่น คาดกำไรปี 61-62 โตดีจากธุรกิจ MPC,เล็งย้ายเข้าเทรดกลุ่มพาณิชย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 15, 2019 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.อาร์เอส (RS) มองเป็นหนึ่งในหุ้น Domestic play ที่โดดเด่น และราคายังน่าสนใจ ขณะที่กำไรปกติผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และธุรกิจพาณิชย์และอื่น ๆ (Multi-platform Commerce:MPC) ยังคงขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่อง จะผลักดันกำไรในปี 61-62 เติบโตได้ดี

ทั้งนี้ ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4/61 คาดดีสุดของปี 61 หลังจัดงาน Grand Sales หนุนรายได้ธุรกิจ MPC สูงถึง 585-593 ล้านบาท เติบโต 25-27% yoy ดันกำไรสุทธิปี 61 ออกมาดีในช่วง 508-523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52-57% จากปี 60 และคาดขยับขึ้น 589-686 ล้านบาทในปี 62 ซึ่งการเติบโตยังคงมาจากธุรกิจ MPC เป็นหลัก โดยปีนี้เพิ่มประเภทสินค้าเป็นเท่าตัว และเพิ่มจำนวน call center เพื่อเน้นทำตลาดสินค้ายอดนิยม ขณะที่ธุรกิจทีวีดิจิทัลคาดการแข่งขันยังรุนแรง

นอกจากนี้ ในช่วงปลายไตรมาส 1/62 ถึงต้นไตรมาส 2/62 ทาง RS ก็จะขอย้ายไปเทรดในกลุ่มพาณิชย์

ราคาหุ้น RS อยู่ที่ 15.20 บาท ลดลง 0.30 บาท (-1.94%) ขณะที่ SET -0.858% เมื่อเวลา 15.53 น.

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ              ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เคทีบี (ประเทศไทย)              ซื้อ                     20.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)              ซื้อ                     20.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)            ซื้อ                     20.10
          ฟินันเซีย ไซรัส                   ซื้อ                     18.00
          เคจีไอ (ประเทศไทย)             ซื้อ                     20.70

นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดว่าผลการดำเนินงานของ RS ในงวดไตรมาส 4/61 จะดีสุดของปี 61 ประเมินกำไร 142 ล้านบาท เติบโต 29.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 33.2% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมาจากธุรกิจ MPC เป็นหลัก เนื่องจากในช่วงวันที่ 21-31 ธ.ค.61 มีงาน Grand Sales ทำรายได้จากธุรกิจ MPC ดีสุดของปีมีถึง 593 ล้านบาท เติบโต 27% จากงวดปีก่อน และส่งผลให้กำไรของปี 61 ออกมาดีด้วย โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 523 ล้านบาท เติบโต 57% จากปี 60 ที่มีกำไรสุทธิ 333 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีนี้ RS ก็ยังมีกำไรเติบโตดีต่อเนื่อง โดยคาดกำไร 670 ล้านบาท เติบโต 28% จากปี 61 ซึ่งรายได้ของ RS ยังคงมาจากธุรกิจ MPC ที่มีความหลากหลายนอกเหนือจากการขายเครื่องสำอาง ยังมีการขายวัตถุมงคล, เสื้อผ้า, ชุดชั้นในของผู้หญิงด้วย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีการเพิ่มประเภทสินค้าเป็นเท่าตัว รวมถึงการรุกตลาดการขายสินค้าผ่านเทเลเซลล์ ,สื่อทีวีช่อง 8 ,การให้พนักงานโทรศัพท์ไปนำเสนอขายสินค้าให้ลูกค้ามากขึ้น และการขายผ่านตัวแทนด้วย ก็จะผลักดันให้เกิดการขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยธุรกิจสื่อที่คาดว่าน่าจะอ่อนตัวลงในปีนี้ เนื่องจากรายได้จากโฆษณาลดลง

นอกจากนี้ในช่วงปลายไตรมาส 1/62 ถึงต้นไตรมาส 2/62 ทาง RS ก็จะขอย้ายไปเทรดในกลุ่มพาณิชย์ และปีนี้อาจจะได้เห็นการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ราว 2-3 ดีล

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ โดยปรับเพิ่มคำแนะนำจาก"ซื้อเก็งกำไร"เป็น"ซื้อ"จาก 3 เหตุผล ได้แก่ 1. คาดกำไรในไตรมาส 4/61 กลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจ MPC หลังจัดงาน Grand Sales และเพิ่มประเภทสินค้ากลุ่มใหม่กระตุ้นยอดขาย 2. คาดว่าธุรกิจ MPC ในปีนี้ยังเป็นตัวผลักดันการเติบโตของกลุ่ม ด้วยแผนเพิ่มสินค้าใหม่อีกเท่าตัว อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง ช่วยชดเขยธุรกิจอื่นที่ทรงตัวได้ หนุนให้ภาพรวมกำไรปกติปีนี้จะเติบโตเร่งขึ้น เป็นเติบโต 36% จากปีก่อน และ 3.ราคาหุ้นปรับลงราว 25% ในรอบ 4 เดือน สะท้อนความกังวลต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลไปมากแล้ว

ทั้งนี้ คาดกำไรปกติของ RS ในไตรมาส 4/61 อยู่ที่ 127 ล้านบาท เติบโต 20% จากไตรมาสก่อน และ 16% จากงวดปีก่อน ผลักดันจากธุรกิจ MPC ที่คาดยอดขายเพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อน และ 25% จากงวดปีก่อน เป็น 585 ล้านบาทสูงสุดในรอบปี หลังสินค้าเครื่องสำอางขายได้ตามปกติ จากช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ของปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากการที่องค์การอาหารและยา (อย.) เข้มงวดในการตรวจสอบโฆษณา และกวาดจับเครื่องสำอางเถื่อน ประกอบกับบริษัทมีการจัดงาน Grand Sales กระตุ้นยอดขายปลายปี และการออกสินค้าใหม่ ๆ อาทิ สินค้าในครัวเรือน เครื่องรางของคลัง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี

นอกจากนี้ รายได้ธุรกิจสื่อก็คาดกลับมาโตเล็กน้อย 3% เป็น 382 ล้านบาท จากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปี 60 ที่งดโฆษณาไปราว 20 วัน ขณะที่ประสิทธิภาพในการทำกำไรทรงตัว โดยอัตรากำไรปกติที่ 12.2% ใกล้เคียงงวดปีก่อน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายการตลาด และพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากการจัดงาน Grand Sales แต่ผลบวกจากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง 36% ช่วยชดเชย

ส่วนแนวโน้มปี 62 คาดว่าผลประกอบการของ RS ถูกผลักดันการเติบโตจากธุรกิจ MPC ที่มีแผนเพิ่มจำนวนสินค้าอีกเท่าตัว จากสิ้นปี 61 ที่ราว 100 SKU และเพิ่มจำนวน call center เพื่อเน้นทำตลาดสำหรับสินค้าที่ขายดี ส่วนธุรกิจทีวีดิจิทัลคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังคงรุนแรง พร้อมคาดกำไรสุทธิปีนี้ที่ระดับ 589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่คาดมีกำไรสุทธิ 508 ล้านบาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยให้ RS เป็นหนึ่งในหุ้น Domestic play ที่โดดเด่น และราคาปัจจุบันยังน่าสนใจ เนื่องจากมองว่ากำไรปกติได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และธุรกิจ MPC ยังคงขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่ากำไรปกติในไตรมาส 4/61 จะอยู่ที่ 134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากงวดปีก่อน และ 25% จากไตรมาสก่อน และมีรายได้อยู่ที่ 1,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดปีก่อน และ 20% จากไตรมาสก่อน หนุนโดยรายได้จากธุรกิจ MPC ทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 590 ล้านบาท โดยรายได้ช่วงเดือน ธ.ค. เติบโตก้าวกระโดด จากการจัดงาน Grand Sale ,รายได้จากธุรกิจมีเดียที่ปรับตัวลดลง อยู่ที่ 350 ล้านบาท จากเม็ดเงินโฆษณาที่ยังคงขยายตัวต่ำ โดยคาด Average ad rate ทรงตัวเมื่อเทียบต่อไตรมาส แต่ Utilization rate เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50% โดยผลเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากการปรับผังละครไทยใหม่ส่งผลให้เรตติ้งปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี กำไรปกติปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56% จากปีที่แล้ว และรายได้อยู่ที่ 4,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวหลังการเลือกตั้ง ส่งผลเม็ดเงินโฆษณาขยายตัวอยู่ที่ 7% และการลด content cost ลง 160 ล้านบาท จากการปรับผังรายการ จะช่วยหนุนผลประกอบการช่อง 8 พลิกฟื้นกลับมาเป็นกำไร , รายได้จากธุรกิจ MPC ที่ขยายตัวโดดเด่น อยู่ที่ 2,997 ล้านบาท จากการเพิ่มจำนวนและความหลากหลายของสินค้า, เพิ่ม ticket size จาก Outbound call และการเพิ่มพนักงาน call center เพื่อรองรับ outbound call และอัตรากำไรขั้นต้น ที่ขยายตัวอยู่ที่ 47% จากสัดส่วนรายได้ของธุรกิจ MPC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการปรับ product mix เพิ่มสินค้าที่เป็นแบรนด์ของ RS มากขึ้น ซึ่งมีมาร์จิ้นสูงกว่าของพันธมิตร


แท็ก Commerce   อาร์เอส   (RS)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ