นายปิยะ ซอโสตถิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายกลางต่างจังหวัด ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง ด้วยมูลค่าการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของผู้ผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 20-30% โดยในปี 2550 ประมาณการว่ามียอดผลิตในประเทศรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 10% ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.45 ล้านคัน ในปี 2551 และจะสูงถึง 1.7 ล้านคัน ในปี 2552
ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ (Auto maker) มีการขยายกำลังการผลิต อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมีอัตราการขยายตัวตามเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายในประเทศไทย การสนับสนุนจากภาครัฐบาล เช่น มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปยังระดับภูมิภาค และระดับโลก
โดยผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศในไทยมีนโยบายใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยกว่า 60% แผนส่งเสริมการลงทุนในรถอีโคคาร์ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตเหลือเพียง 17% จากเดิม 30-50% รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์ชนิด CBU ในการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารจะจัดกิจกรรม World Class Seminar ของธนาคารกรุงเทพในครั้งที่ 3 ในวันที่ 30 ม.ค.นี้ เพื่อบรรยายในหัวข้อ "แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ" รวมทั้ง"แนวโน้มอุตสาหรรมยานยนต์โลก"
ธนาคารประสบความสำเร็จจากการดำเนินโครงการ World Class Seminar ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกลุ่มธุรกิจอาหาร โดยสามารถขยายสินเชื่อร่วมใน 2 กลุ่มดังกล่าวได้กว่า 5,000 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/นิศารัตน์/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--