AOT เตรียมทำ EHIA รันเวย์ 3 เพิ่มเติม คาดเสนอ สผ.ได้ใน ก.ค.พร้อมเดินหน้ายกร่าง TOR คู่ขนาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 15, 2019 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ทอท.คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) เพิ่มเติม เพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นจะสามารถเปิดประมูลได้

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีมติอนุมัติให้ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ 3 วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้การออกแบบแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ EHIA ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ประชุมและมีความเห็นให้ ทอท.ทำข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่การยกร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าดำเนินโครงการ (ทีโออาร์) ก็จะดำเนินการไปคู่ขนานไป

สำหรับรันเวน์ 3 กำหนดวงเงินค่าก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท และค่าชดเชยไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดรองรับเครื่องบินจาก 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ใช้เวลาก่อสร้างส่วนของรันเวย์ประมาณ 1 ปีครึ่ง-2 ปี

นาวาโท สุธีรวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหนาแน่นมาก โดยมีปริมาณกว่า 60 ล้านคน/ปี ซึ่งศักยภาพขณะนี้สามารถรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี จึงมีความจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วางแผนจะก่อสร้างเพื่อรองรับเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic Terminal) แต่มีแนวคิดปรับเป็นรองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยขีดความสามารถรองรับประมาณ 25-30 ล้านคน/ปี ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) แนะนำ หรือประมาณ 30% ของผู้โดยสารทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้อาคารหลัก

"เวลานี้ ผู้ใช้สนามบิน สายการบิน ต้องการพื้นที่อาคารผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มอย่างเร็ว โดยปัจจุบันผู้โดยสารมีปริมาณสูงสุด 217,000 คน/วัน ยิ่งช้า จะยิ่งสูญเสียโอกาสธุรกิจการบินและท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ที่จะขับเคลื่อนประเทศ"นาวาโท สุธีรวัฒน์ กล่าว

ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Wing) มีประโยชน์ต่อสนามบินสุวรรณภูมิในเวลานี้มากกว่า การขยายด้านตะวันออก (East Expansion Building) เพราะตอนนี้มีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า 80% หากขยายด้านตะวันออกเท่ากับเพิ่มพื้นที่ผู้โดยสารในประเทศ และรองรับเครื่องบินขนาดเล็กที่บินภายในประเทศ หากจะรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีมากกว่า จะต้องมีการปรัปรุงโครงสร้างอาคารอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่บินระหว่างประเทศ ขณะที่หากขยายด้านตะวันตกจะแก้ปัญหาได้ดีกว่า นอกจากนี้ การก่อสร้างด้านตะวันตกจะไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ