กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ มายื่นซองข้อเสนอโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) มูลค่าโครงการรวม 55,400 ล้านบาท ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อเวลาประมาณ 14.05น.เป็นรายแรกในวันนี้
เจ้าหน้าที่ของบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท (PTT) โดยร่วมกันถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ 30%ตามลำดับ
สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และ เอกชน 42,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การพัฒนาและการบริหารโครงการ
ทั้งนี้ การพัฒนาช่วงที่ 1 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 47,900 ล้านบาท โดย กนอ.จะเข้าร่วมลงทุนไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่
นอกจากนั้น จะเป็นงานขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี โดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าพัฒนาโครงการในช่วงที่ 1 จะได้รับสิทธิในการบริหารและพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารท่าเรือ และเพื่อรองรับการใช้บริการท่าเรือที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับแผนการพัฒนาในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ (Superstructure) ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท โดยเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนและพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า บรรยากาศของการมายื่นข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิค และเอกสารรายละเอียดด้านราคาต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเป็นไปตามขั้นตอน โดยการที่มีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอในวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จของโครงการดังกล่าว แม้จะมีเพียงกลุ่มเดียว เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการก่อสร้าง จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและการบริหารจัดการโครงการในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการฯจะมีการตรวจสอบเอกสารที่ยื่นมาทั้งหมดต่อไป
สำหรับการตรวจสอบเอกสารของบริษัทดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 ของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศผลรายชื่อผู้ที่ชนะการคัดเลือกเอกชน และสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน พ.ค.2562
"แม้จะมีกลุ่มเดียวที่ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาก็สามารถพิจารณาต่อไปได้ หลังจากวันนี้ที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เปิดรับข้อเสนอแล้วจะมีการประชุมและเปิดซอง 1 ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติทั่วไปในวันที่ 21 ก.พ.นี้ จากนั้นจะเปิดซอง 2 เป็นข้อเสนอด้านเทคนิคและประสบการณ์ และซอง 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จากนั้นจึงจะเปิดข้อเสนอซอง 4 ซึ่งเป็นข้อเสนออื่น ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แบงค์ ได้ยื่นมาด้วย และหลังจากนี้ยังมีขั้นตอนอื่นอีก โดยจะส่งสัญญาให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจก่อน และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.). และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติต่อไป"
ผู้ว่า กนอ.กล่าวว่า กนอ.เลื่อนกำหนดการเดิมที่จะเซ็นสัญญาภายใน มี.ค.2562 ไปเป็นเดือน พ.ค.2562 เพราะให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอโครงการเพิ่มเป็น 3 เดือน จากเดิม 2 เดือน
"พอใจ ภาพรวมวันนี้ อย่างน้อยมีคนมายื่น โดยคาดไว้มีรายเดียวเข้ามายื่นข้อเสนอ เพราะต้องยอมรับโครงการนี้ยากและมีมูลค่าสูง ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ และยังต้องมาทำหน้าที่บริหารท่าเรือด้วย...ขั้นตอนการพิจารณาเยอะมาก แล้วเดือนเม.ย.ก็มีวันหยุดเยอะ แต่ยังอยู่ในTimeframe ของอีอีซี ถือว่าเราทำได้เร็วแล้ว"นางสาวสมจิณณ์ กล่าว