นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทนำเสนอกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ออล ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (UCHINA) ซึ่งจะกระจายการลงทุนไปยังหุ้นของบริษัทจีนผ่านตลาดหุ้นจีน (Onshore) และตลาดฮ่องกง รวมทั้งหุ้นบริษัทจีนในตลาดอื่นๆทั่วโลก (Offshore) เปิดเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 18-25 ก.พ.62 ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ได้รับเงินค่าขายคืน T+5
ทั้งนี้ กองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
กองทุน UCHINA ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund โดยกองทุนหลักนั้นมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management) มีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสิทธิภาพ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ทีมผู้บริหารจัดการกองทุนหลักได้รับรางวัล Best Fund Manager, Equity China – Citywire Singapore 2018 (ที่มา : UBS Fund Management, 31 Dec 2018) รวมไปถึงทีมนักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นจีน โดยมีการคัดเลือกหุ้นแต่ละตัวจากปัจจัยพื้นฐาน (Bottom-up analysis) ที่มีโอกาสเติบโตสูงในระยะยาว
"กองทุนนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จากการลงทุนในบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจทั้งในตลาดจีนและตลาดอื่นๆ"นางสาวรัชดา กล่าว
กองทุน UCHINA จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ชื่อ UBS (LUX) Equity SICAV – All China (USD) I-A1-acc (กองทุนหลัก) ซึ่งบริหารจัดการโดย UBS Fund Management (Luxembourg) S.A. โดยกระจายการลงทุนไปยังหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศจีนและฮ่องกง รวมถึงหุ้นของบริษัทจดทะเบียนของประเทศอื่นที่มีการดำเนินธุรกิจในจีนเป็นหลัก
กองทุนหลักมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก มีนโยบายการลงทุนที่ยืดหยุ่น (Dynamic) โดยไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างตลาด Onshore และตลาด Offshore ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom-up และผู้จัดการกองทุนหลักมี Track record ที่ดีในการบริหารกองทุนหุ้นจีนอื่นๆ ทั้งกองทุนหุ้นจีนที่ลงทุนในตลาด Onshore และตลาด Offshore ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่ามีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์บริหารกองทุนเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
นางสาวรัชดา กล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มเติบโตระยะยาวที่ดีจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างประชากร รวมไปถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนระบบการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นจีนในปี 61 มีการปรับตัวลงจากประเด็นผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะจากเรื่องสงครามการค้ากับสหรัฐฯ จึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง รวมไปถึง valuation ตลาดที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบายการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือนโยบายการคลังในการปรับลดภาษี เหล่านี้ บลจ. เล็งเห็นว่าการลงทุนในบริษัทจีนจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค
เศรษฐกิจจีนได้รับแรงกดดันจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยแนวโน้มสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนอาจลดความรุนแรงลงในระยะกลาง หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ภายในเวลา 90 วัน ซึ่งจากแรงกดดันเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยทำให้อัตราการขยายตัวต่ำลง โดยภาคการผลิตปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัว ขณะที่ภาคการบริการยังคงอยู่ในระดับที่ดี และปัจจุบันจีนมีการเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมภาคการผลิตมาเป็นการบริโภคภายในประเทศ (ภาคการบริการ) มากขึ้น ซึ่งการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีนี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในปี 62 นี้
อีกทั้งรัฐบาลและธนาคารจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 62 โดยรัฐบาลจีนเริ่มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อมุ่งให้การเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ในเป้าหมายที่ 6.2% ในปี 62 และปี 63 ซึ่งทางด้านนโยบายการเงินมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะกลางให้อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งมีการลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ SMEs ส่วนนโยบายการคลังมีการปรับลดภาษี และคาดว่า VAT จะถูกปรับลดลงอีกในปี 2562 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP โตขึ้นอีกในอัตรา 0.9-1.6%
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออกตราสารหนี้ลักษณะพิเศษ (Special Bond) ในการ Funding เพื่อสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่ามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ จะช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้าได้บางส่วน
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของจีนยังคงมีแนวโน้มการเติบโตระยะยาวที่ดี โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่า GDP จากตลาดสินค้า online ที่ขยายตัวกว่า 32% ในปี 60 และกว่า 30% ในปี 61 และยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกอย่างมากในอนาคตจากรายได้ประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ปัจจัยการขยายตัวของเมือง (Urbanizing) ที่มีการขยายจำนวนประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ปัจจัยด้าน R&D และนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา ที่ทำให้คุณภาพสินค้าดีขึ้น การเข้าถึงบริการต่างๆสะดวกสบายมากขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคืออายุเฉลี่ยของประชากรจีนที่เพิ่มมากขึ้น (Demographics) ที่สนันสนุนให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยคาดว่าตลาด healthcare จะโตกว่า 9.3% ต่อปี ระหว่างปี 2560 ถึง 2573 (ที่มา : UBS Asset Management, ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2561)
ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมานี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนและเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดจีน โดยตลาดหุ้นจีนมี valuation ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งตลาด Onshore และตลาด Offshore โดยปัจจุบัน ตลาด Offshore มีค่า forward P/E ที่ระดับ 8.1 เท่า ส่วนตลาด Onshore มีค่า Forward P/E อยู่ที่ 9.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นๆทั้งในภูมิภาคและภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่ EPS growth ปี 2562 ตลาด Offshore ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% ส่วนตลาด Onshore อยู่ที่ 26% (ที่มา : Bloomberg, ณ วันที่ 31 ธ.ค.61) เหล่านี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในกองทุน UCHINA เพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว