นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เดินหน้าโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มูลค่าโครงการ 4.2 หมื่นล้านบาท เป็นไปตามความต้องการ คณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) ซึ่งประกอบด้วย สายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินร่วมเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ ทอท.จะนำเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และเข้าพิจารณาในชั้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ AOT กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวันนี้ให้ยกเลิกผลการประมูลงานออกแบบอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ซึ่งมีกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้รับเลือก โดยคณะกรรมการมอบหมายให้ ทอท. เป็นผู้ออกแบบเอง
ส่วนวาระการพิจารณาร่างประกาศเชิญชวนเอกชน (ทีโออาร์) เข้าประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นการประชุมวาระลับนานราว 1 ชั่วโมง โดยมอบหมายให้นายนิตินัย เป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงผู้เดียว
AOT แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ทอท.วันนี้ว่า คณะกรรมการ ทอท. มีมติรับทราบความคืบหน้าแนวทางการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex) ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ
ขณะที่ฝ่ายบริหาร ทอท.ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.เดิม ซึ่งเคยประกวดแบบไว้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน ดังนั้น คณะกรรมการ ทอท.จึงมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการ ทอท.ในการประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.61 และให้ ทอท.ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ฝ่ายบริหารรายงานความคืบหน้าแนวทางการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal concourse A Annex) ซึ่งคณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.61 ที่อนุมัติให้จ้างกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก เป็นผู้รับจ้างงานสำรวจออกแบบโครงการ แต่ภายหลังได้มติในการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 รับทราบรายงานแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้เหมาะสมกับความต้องการของสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้ชะลอการดำเนินงานว่าจ้างผู้ออกแบบไว้ก่อน
ฝ่ายบริหาร ทอท. ได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 ทอท.ได้มีหนังสือสอบถามขอความคิดเห็นจาก ICAO ในฐานะผู้จัดทำรายงานผลการศึกษาแผนแม่บท เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) 2 ประเด็น คือ
(1) ตามรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือน มี.ค.54 ที่ระบุว่าการขยายอาคารผู้โดยสาร ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก จะยากลำบากสำหรับการดำเนินงานเมื่ออาคารยังถูกใช้งานในสถานการณ์ที่เต็มขีดความสามารถอยู่ และควรย้ายกระบวนการผู้โดยสารภายในประเทศไปยังอาคารในบริเวณอื่น ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถอยู่นั้น ทสภ.ยังควรดำเนินการย้ายผู้โดยสารไปยังอาคารที่แยกเป็นอิสระบริเวณพื้นที่ว่างด้านทิศเหนือของ Concourse A ก่อนใช่หรือไม่
(2) พื้นที่ว่างด้านทิศเหนือของ Concourse A ซึ่งตามรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือน เม.ย.52 ระบุไว้ให้เป็น Area Reserved for Optional Terminal อีกทั้งยังกำหนดผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Plan) บริเวณดังกล่าวเพื่อใช้เป็นอาคารผู้โดยสาร และต่อมาในรายงานผลการศึกษาของ ICAO ฉบับเดือน มี.ค.54 กำหนดให้พื้นที่ว่างดังกล่าวสามารถสร้างอาคารที่เป็นอิสระ (Stand-alone) มีชานชาลารับส่งผู้โดยสาร (Curb front) เป็นของตัวเองทั้งขาเข้า (Arrival lanes) และขาออก (Departure lanes) อีกทั้งยังรองรับกระบวนการทั้งหมดของ ผู้โดยสารภายในประเทศทั้งขาเข้าและขาออกนั้น หมายความว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารผู้โดยสารใช่หรือไม่
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 ICAO มีหนังสือให้ความเห็นทั้ง 2 ประเด็นว่า (1) ประเด็นด้านการปรับลำดับและกำหนดระยะเวลาของการพัฒนา ทสภ.ระยะต่าง ๆ ตามที่ระบุในแผนแม่บท ฉบับเดือนมีนาคม 2554 นั้น ICAO ไม่สามารถประสานเพื่อหาคำตอบจากบริษัทที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่จัดทำแผนแม่บทดังกล่าวได้ในระยะเวลาที่จำกัด และ (2) Optional Terminal และ Concourse A Annex สามารถพัฒนาได้บนที่ดินแปลงเดียวกัน
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 คณะกรรมการ ทอท. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าแนวทางดำเนินงานโครงการ และให้เสนอคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) ซึ่งประกอบด้วยสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินร่วมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของขนาดโครงการก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ. ให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากนั้นเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.62 ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ACC ซึ่ง ACC ได้สนับสนุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดของ ทสภ.และรองรับการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association (IATA)) ได้สอบถามความคิดเห็นสายการบินที่เป็นสมาชิกแล้วมีความเห็นว่าควรมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2
นอกจากนั้น คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ (AOC) ยังได้สนับสนุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เช่นกัน เนื่องจาก AOC ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าสายการบินเกี่ยวกับความแออัดของ ทสภ.ประกอบกับภาวะการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และแนวนโยบายของประเทศที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และการคมนาคมขนส่งทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไม่มีการดำเนินการอาจทำให้บริษัทสายการบินต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการบิน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการขยายส่วนต่อข้างอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแออัดได้ ส่วนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ก็ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับ และสายการบินต้องเสียต้นทุนอย่างมหาศาล สายการบินจึงต้องการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศได้ภายในอาคารเดียวกัน และเห็นด้วยกับการนำหลุมจอดของ Concourse A และ B และ C มาควบรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2